สมุนไพรไทย » วิธีปลูกโหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย

วิธีปลูกโหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย

20 ธันวาคม 2022
3443   0

วิธีปลูกโหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย

วิธีปลูกโหระพา

วิธีปลูกโหระพา


ลักษณะโดยทั่วไป

โหระพา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum basillicum L. เป็นพืชในวงศ์ Labiatae สำหรับชื่อภาษาอังกฤษของโหระพาเรียกกว่า Sweet Basil ส่วนบ้านเราก็เรียกโหระพากันเป็นส่วนใหญ่ โหระพามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย แต่กลับไปแพร่หลายในประเทศฝั่งตะวันตกและเอเชีย




โหระพา เป็นพืชตระกูลเดียวกับกะเพราและแมงลัก แต่มีกลิ่นและรสที่ต่างกัน โดยโหระพาถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีความเก่าแก่ เพราะรากศัพท์ของโหระพาในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า basileus ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า ราชา หรือผู้นำของปวงชน อีกทั้งชื่ออื่น ๆ ของโหระพาในแถบยุโรปยังมีรากศัพท์มาจากคำว่าราชาแทบจะทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า โหระพาเป็นส่วนประกอบของสมุนไพรที่ราชวงศ์ยุโรปโบราณใส่ในน้ำอาบอีกด้วย

โหระพา เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ลำต้นทรงพุ่มสูงประมาณ60-70 เซนติเมตร ใบเขียว ก้านใบและลำต้นสีม่วงใบมีกลิ่นหอม โหระพาเป็นผักที่ใช้ใบบริโภค ใช้ปรุงแต่งอาหารให้มีรสชาติและกลิ่นหอมน่ารับประทาน

การเพาะเมล็ดสำหรับทำกล้าโหระพา

ทำแปลงเพาะขนาดกว้าง 1 เมตร ความยาวแล้วแต่แปลง ย่อยดินให้ละเอียดคลุกเคล้าปุ้ยคอกหรือปุ๋ยหมัก แล้วหว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง หลังเพาะประมาณ 7-10 วัน เมล็ดเริ่มงอกดูแลรักษาต้นกล้าอายุประมาณ 25-35 วัน ก็สามารถย้ายปลูกได้ หรืออาจเพาะกล้าในถุงพลาสติกขนาด 2 x 3 นิ้ว โดยหยอด 2-3 เมล็ดต่อถุง

ในกรณีใช้กิ่งพันธุ์สำหรับปลูก ให้เลือกกิ่งที่ค่อนข้างแก่ และควรเป็นกิ่งสดความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร หรือมีข้อประมาณ 5 ข้อขึ้นไป ใช้มีดคม ๆ เฉือนบริเวณโคนต้น แล้วนำไปชำในภาชนะที่ใช้ตินผสม ดูแลรดน้ำประมาณ 7-10 วัน ตาใหม่จะเริ่มแตกออกมา หรืออาจนำไปปลูกในภาชนะปลูกโดยตรงก็ได้

การปลูกในแปลงหรือในภาชนะ

1. กรณีปลูกในแปลงใช้จอบขุดย่อยหน้าดินให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตรย่อยดินให้ละเอียดใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ้ยหมัก หว่านคลุกเคล้าให้เข้ากับดินในแปลง ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร

2. กรณีปลูกในภาชนะต่าง ๆ เลือกภาชนะที่มีขนาดปานกลางมีน้ำหนักไม่มากหากต้องการปลูกแบบแขวน แต่พื้นที่ปลูกในภาชนะแบบตั้งอยู่บนพื้นดิน อาจใช้ภาชนะใหญ่เพื่อปลูกหลาย ๆ ต้น หรือใช้ภาชนะขนาดเล็กเพื่อปลูกเพียง 1 ต้นก็ได้ ใช้ดินผสมใส่ลงในภาชนะและย้ายกล้าลงปลูก หรือนำกิ่งมาปักชำก็ได้เช่นกัน

การดูแลรักษา

  • การให้น้ำ ให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอทุกวัน
  • การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชทุกครั้งที่มีการให้ปุ๋ยและเมื่อมีวัชพืชรบกวน

การเก็บเกี่ยว

หลังปลูกประมาณ 30-35 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้โดยใช้มือเด็ดหรือกรรไกรตัดกิ่งที่มียอดอ่อนไปบริโภคและถ้าต้นโหระพาออกดอกควรหมั่นตัดแต่งดอกทิ้ง เพื่อให้โหระพามีทรงพุ่มที่แข็งแรงและมีอายุยืนยาว

โรคและแมลงที่ต้องระวัง

นอกจากวัชพืช เช่น แห้วหมูและผักโขม ที่ต้องคอยระวังและกำจัดแล้ว คนที่ปลูกต้นโหระพาต้องคอยสำรวจตรวจเช็กและใส่ใจดูแลเพื่อป้องกันโรคและแมลงเหล่านี้เอาไว้ด้วย

  • เพลี้ยไฟโหระพา : เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืช ทำให้ใบหรือยอดอ่อนหงิก ส่วนขอบม้วนงอ โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสำรวจและติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อดักจับตัวโตเต็มวัย
  • เพลี้ยอ่อนฝ้าย : เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอด ทำให้มีอาการงอหงิก และชะงักการเจริญเติบโต อีกทั้งยังเป็นพาหะนำไวรัสหลายชนิดมาสู่พืชด้วย โดยจะพบมากในช่วงอากาศแห้งแล้งหรือฤดูหนาว แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำจัดวัชพืชเป็นประจำ และถ้าหากพบพืชหงิกงอให้ตัดส่วนนั้น ๆ ออกแล้วนำมาเผาทิ้ง
  • แมลงหวี่ขาวยาสูบ : เป็นแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเหี่ยวแห้งและต้นแคระแกร็น อีกทั้งยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคด่างเหลืองอีกด้วย พบมากในฤดูแล้ง สามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสำรวจและติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อดักจับตัวโตเต็มวัย
  • หนอนแมลงวันชอบใบ : เป็นหนอนที่ชอนไชใบจนทำให้เกิดรอยสีขาว แต่ถ้าระบาดรุนแรงอาจจะทำให้ใบร่วงและตายได้ ส่วนการแก้ไขคือ หมั่นเก็บเศษใบที่ถูกทำลายและร่วงหล่นตามพื้นดินมาเผาทิ้ง จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้
  • หนอนผีเสื้อห่อใบ : เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อที่มักจะปล่อยเส้นใยและกัดกินใบไปเรื่อย ๆ จนถึงยอด
  • โรคราน้ำค้าง : เป็นโรคที่ทำลายใบด้านบนให้เป็นสีเหลือง ส่วนด้านล่างเป็นเชื้อราสีน้ำตาล สามารถแก้ไขและป้องกันด้วยการเลือกใช้เมล็ดที่ปลอดโรค พร้อมทั้งทำความสะอาดเมล็ดให้ดีก่อนปลูก นอกจากนี้อย่าปลูกให้หนาแน่นเกินไป พร้อมทั้งคอยเก็บเศษซากของพืชหลังจากการเก็บเกี่ยวด้วย
  • โรคเหี่ยว : เป็นโรคที่ทำให้ใบดำและเหี่ยวตาย สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดยากำจัดเชื้อรา
  • โรคใบเน่า : เป็นโรคที่ทำให้ใบเป็นแผล มีน้ำและมีเมือก โดยแผลจะค่อย ๆ ลุกลามไปเรื่อย ๆ จนทำให้ต้นเน่าตาย
  • โรคใบจุด : เป็นโรคที่ทำให้ใบมีจุดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ จากนั้นใบโหระพาก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทั้งใบ แล้วร่วงหล่นลงตามมาลำดับ




ประโยชน์และสรรพคุณของโหระพา

โหระพาเป็นผักสวนครัวที่มีสรรพคุณมากมาย และนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบ เมล็ด และราก นอกจากปลูกไว้ทำอาหารแล้ว ยังมีคุณค่าทางยาทั้งช่วยในการขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องร่วงแล้ว ยังช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรคหวัด ปวดหัว แก้ไอ และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย

ทั้งปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก สรรพคุณดี และมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ ถ้าหากใครยังไม่รู้ว่าจะปลูกผัก ปลูกผลไม้อะไรดี เราขอแนะนำให้ปลูกโหระพาติดบ้านเอาไว้เลย รับรองอร่อยเด็ด มีคุณค่า และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน, พืชเกษตร, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ, สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมวิชาการเกษตร,www.kasetbanna.com


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ