บทความเกษตร/เทคโนโลยี » เลี้ยงไก่ดำภูพาน สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน เลี้ยงง่ายโตไว ราคาดี

เลี้ยงไก่ดำภูพาน สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน เลี้ยงง่ายโตไว ราคาดี

18 พฤศจิกายน 2020
6559   0

เลี้ยงไก่ดำภูพาน สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน เลี้ยงง่ายโตไว ราคาดี

เลี้ยงไก่ดำภูพาน


 ไก่ดำภูพาน  เป็นไก่ดำสายพันธุ์ใหม่ที่มีการศึกษาและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ ให้ได้ไก่ดำ พันธุ์ดี ทนทานต่อโรค ทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่ายกินเก่งโตเร็ว น้ำหนักดี




ที่มาไก่ดำภูพาน

“ไก่ดำภูพาน” เป็นสายพันธุ์หนึ่งของ “ไก่ดำ” ปรับปรุงพันธุ์จาก “ไก่ดำ” จากประเทศจีน และจดสิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สิน ทางปัญญา และขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์กับกรมปศุสัตว์โดย นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร “ไก่ดำภูพาน” เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความต้องการในตลาดประเทศจีน ที่มีความเชื่อในสรรพคุณยาของ”ไก่ดำ” ซึ่งมีองค์ประกอบ ขนดำ หนังดำ เล็บดำ เนื้อเทาดำ และกระดูกก็สีเทาดำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2525 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กว่าจะมาเป็น “ไก่ดำภูพาน”

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พัฒนาสายพันธุ์ “ไก่ดำภูพาน” ขึ้นมาโดยเริ่มต้นจากการรวบรวม “ไก่ดำ” ลูก ผสมที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ที่หลงเหลือจากการนำเข้าจากประเทศจีนเมื่อประมาณ 15-20 ปีที่แล้ว โดยขอจากชาวบ้านจำนวน 5 ตัว มาจัดแผนการผสมพันธุ์และคัดเลือก “ไก่ดำ” สายพันธุ์ดี โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี จึงได้ “ไก่ดำภูพาน” ที่ตรงตามลักษณะของ “ไก่ดำ” ทุก ประการ โดยมีลักษณะ คือ ขนดำ หนังดำ หน้าแข้งดำ กระดูกเทาดำ และเนื้อสีเทาดำ จนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2550 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการพัฒนา “ไก่ดำ” สายพันธุ์ภูพานเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยและสามารถขยายผลสู่การเลี้ยง ของเกษตรกรได้แล้ว

รูปแบบการ เลี้ยงไก่ดำภูพาน

สำหรับรูปแบบการเลี้ยงไก่ดำภูพาน แบบออกได้คร่าวๆเป็น 3 แบบ ดังนี้

รูปแบบการเลี้ยงไก่ดำภูพาน

  • การเลี้ยงแบบปล่อย  ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมเลี้ยงกันมาก ตามชนบท ซึ่งผู้เลี้ยงจะสร้างเล้าขนาดเล็กไว้ ให้ไก่ได้หลับนอนเฉพาะกลางคืน และปล่อยไก่ออกหากินอย่างอิสระ ในตอนเช้าให้ข้าวเปลือก ปลายข้าว หรือเมล็ดธัญพืชต่างๆ การเลี้ยงแบบปล่อยนี้ จะช่วยให้ไก่ได้ออกกำลังกายมีสุขภาพที่แข็งแรง
  • การเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย เป็นการเลี้ยง โดยการสร้างเล้าไก่ให้มีขนาดกว้างขึ้น มีรั้วล้อมกั้นกันไม่ให้ไก่ออกไปหากินไกลๆ จัดหาน้ำและรางอาหารไว้ให้ไก่ รูปแบบการเลี้ยงนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีการเลี้ยงที่ดีและเหมาะสมมากที่สุด
  • การเลี้ยงแบบขังเล้า ต้องสร้างเล้าไก่ที่สามารถกันแดด กันลม และ ฝนได้  พร้อมจัดหาอาหารและน้ำให้ไก่ได้กินตลอดเวลา การเลี้ยงแบบขังเล้า สามารถป้องกันโรคระบาดได้ดี

การให้อาหารไก่ดำภูพาน

เลี้ยงไก่ดำภูพาน

ที่มารูปภาพ ไก่ดำภูพาน https://kasetbanrao.blogspot.com/

มีหลักการง่ายๆ คือ จะต้องเอาใจใส่ดูแลในการเลี้ยง มั่นสังเกตุการกินอาหารของไก่ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • ให้น้ำสะอาดตั้งไว้ให้ไก่กินตลอดวัน และคอยเปลี่ยนน้ำทุกๆ วัน
  • ให้อาหารทุกเช้าและเย็น เพิ่มเติมจากอาหารที่ไก่หากินได้ตามปกติ เช่นปลายข้าว รำข้าว ข้าวโพดป่น ปลาป่น ข้าวเปลือก กากถั่ว กากมะพร้าว หัวอาหารไก่สำเร็จรูปชนิดเม็ด หรือการให้หัวอาหารไก่สำเร็จรูปผสมลงในรำข้าวหรือปลายข้าวหรือข้าวเปลือกเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด เกษตรกรสามารถหาซื้อได้ง่ายและผสมเองได้ช่วยให้ไก่เจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น
  • มีเปลือกหอยป่น และเศษหินตั้งทิ้งไว้ให้ไก่กินเพื่อเสริมแคลเซียมและช่วยบด ย่อยอาหาร
  • ให้หญ้าสด ใบกระถิน หรือผักสดให้ไก่กินทุกวัน

การเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์

ไก่พ่อแม่พันธุ์ไก่ดำ

การเลี้ยงไว้เพื่อขยายพันธุ์ จะต้องเลี้ยงแบบควบคุมอาหารโดยการปรับลด อาหารที่ให้โปรตีนและพลังงานที่ไปบำรุงการเจริญเติบโตลง แต่ไปเพิ่มอาหารจำพวกเมล็ดธัญพืชมากกว่า การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ โดยใช้หลักเกณฑ์ดังนี้

  1. ลักษณะพ่อพันธุ์
    จะต้องมีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง อายุตั้งแต่ 9 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี
  2. ลักษณะแม่พันธุ์
    จะต้องมีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง อายุตั้งแต่ 7 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี ให้ไข่ ชุดละ 10-15 ฟอง เลี้ยงลูกเก่ง มีนิสัยไม่ดุร้ายหรือจิกตีลูกไก่ของตัวอื่น

การผสมพันธุ์

สำหรับการผสมพันธุ์ “ไก่ดำภูพาน” นั้นจะผสมแบบธรรมชาติ  1 ต่อ 1  คือ ใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อ แม่พันธุ์ 1 ตัว หรือจะผสม แบบใช้พ่อหนึ่งตัวผสมกับแม่หลายตัว เช่น ใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อ แม่พันธุ์ 4 – 5 ตัว ก็ได้ขึ้นอยู่ตามความเหมาะสมของเล้าเพาะของแต่ละคน




การฟักไข่

สำหรับการฟักไข่นั้น แม่ไก่ดำภูพานจะเริ่มให้ไข่ เมื่ออายุประมาณ 6 – 7 เดือน ให้ไข่ 3 – 4 ชุด/ปี ชุดละ 8 – 15 ฟอง/ตัว ตามความสมบูรณ์ของแม่ไก่ ซึ่งเมื่อไข่หมดชุดแล้วก็จะเริ่มฟักไข่ ก่อนจะให้แม่ไก่ฟักไข่ ควรฆ่าไรและเหาบนตัวไก่เสียก่อน โดยจับแม่ไก่ จุ่มน้ำยาฆ่าไร เหา ทั้งนี้เพื่อป้องกัน ไร และเหารบกวนแม่ไก่ในขณะกกไข่

การเลี้ยงดูไก่เล็ก

เป็นการเลี้ยงไก่แบบพื้นบ้าน เลี้ยงโดยให้แม่ไก่ทำหน้าที่ในการกกและเลี้ยง ลูกเอง จนลูกไก่อายุ ๖ – ๘ สัปดาห์ จึงปล่อยให้ลูกไก่ออกหากินเองแยกจากแม่ไก่ในช่วงสัปดาห์แรกลูกไก่ยังไม่แข็งแรง ควรใช้สุ่มครอบหรือขังกรงแม่ไก่กับลูกไก่ไว้โดยให้อาหารและน้ำ

การเลี้ยงไก่รุ่น

ไก่ช่วงอายุ 7 – 15 สัปดาห์ นั้นการเลี้ยงไก่ในช่วงนี้ไม่ต้องดูแลมาก เพราะถ้าเลี้ยงแบบปล่อยไก่สามารถหาอาหารกินเองได้ เพียงแต่ให้อาหารในตอนเช้าหรือเย็นเท่านั้น หรือถ้าการเลี้ยงเพื่อต้องการจำหน่ายเป็นไก่เนื้อจำเป็นที่จะต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหารควรทราบความต้องการโภชนาและปริมาณอาหารในแต่ละวันของไก่ เพื่อการเจริญเติบโตที่เร็ว 

โรคที่สำคัญในสัตว์ปีกโรคขี้ขาว

สาเหตุ เชื้อแบคทีเรียพวกซัลโมเนลลา
การติดต่อ ตู้ฟักไข่ ตู้ฟัก เครื่องมือเครื่องใช้
อาการ ไก่เล็ก รุนแรงเมื่อลูกไก่อายุได้ 3-4วัน ท้องเสีย มีอุจจาระขาวติดก้นหงอย ซึม ขนยุ่ง หายใจหอบ จะตายเมื่ออายุ 7-12 วัน ตัวที่รอดจะแคระแกรนไก่ใหญ่ มีอาการอักเสบของรังไข่ และท่อนำไข่
การป้องกัน ใช้ยาฟูราโซลิโน หรือยาประเภทซัลฟาบางชนิด

โรคอหิวาต์

สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย คือ ปาสเจอเรลล่า
การติดต่อ การสัมผัส ทางน้ำ ทางอาหาร
อาการ มีชนิดรุนแรงและชนิดเรื้อรัง เป็ด ไก่จะตายอย่างรวดเร็ว เบื่ออาหารท้องเสีย มีอุจจาระสีเขียว ปนเหลืองติดก้น หงอย ซึม ขนยุ่ง หายใจหอบ หงอนและเหนียงมีสีคล้ำ จะตายใน 2-3วัน
การป้องกัน ยาซัลฟาควิน๊อกซาลิน หรือยาปฏิชีวนะ และการสุขาภิบาลสัตว์

โรคหวัดติดต่อ

สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย
การติดต่อ การสัมผัส อากาศ
อาการ ไก่มีน้ำมูกน้ำตา หน้าบวม มีแผ่นฝ้าสีเหลืองคล้ายเนยเกิดขึ้นในปากและจมูก เป็นมากตาจะแดง ใต้ตาบวม ยืนหลับตา ขนพอง อาจเกิดปอดบวม ทำให้ตายได้
การป้องกัน ใช้ยาปฏิชีวนะสเตรปโตไมซิน หรือยาซัลฟา เช่น ซัลฟาโมโนเมท ท๊อกซิน และการสุขาภิบาลสัตว์

ต้นทุนและค่าตอบแทนในการเลี้ยงไก่ดำภูพาน

สำหรับการเลี้ยงไก่ดำภูพาน นั้นสามารถจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้มากถึง 3 เท่าตัว ของไก่พื้นเมืองธรรมดาทั่วไป โดยใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 4 เดือน ที่ไก่ดำภูพาน 1 ตัว จะได้น้ำหนักประมาณ 0.7 – 1 กิโลกรัม ซึ่งเลี้ยงภายใต้ ระบบการเลี้ยงปล่อยหากินอิสระ เหมือนการเลี้ยงไก่พื้นเมือง โดยสามารถจำหน่ายประมาณตัวละ 200-250 บาท ในขณะที่ไก่พื้นเมืองจำหน่ายได้ราคาประมาณตัวละ 60-70 บาท เท่านั้น

แหล่งที่มาของข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.), ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร,   www.royal.rid.go.th/phuphan 




บทความอื่นๆที่น่าสนใจ