รู้จักโรค ASF โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อันตรายแค่ไหน?
รู้จักโรค ASF โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
” นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยเผยว่า โรค “ASF” จะติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงจาก “หมู” ที่ป่วยด้วยกันเองเท่านั้น ไม่มีการแพร่กระจายสู่คน แต่ทั้งนี้ก่อนนำเนื้อหมูไปปรุงอาหาร ควรล้างให้สะอาดและปรุงสุก 100% ก่อนรับประทานทุกครั้ง “
โรค “ASF” โรคอหิวาต์แอฟริกา คืออะไร?
ASF ย่อมาจาก African Swine Fever หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่ม Asfivirus เป็น DNA virus ที่มีความคงทนสูงในสภาพแวดล้อม โดยอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน และอยู่ในเนื้อสุกรแช่แข็งได้หลายปี
อย่างไรก็ตาม ASF (โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร) กับ CSF (โรคอหิวาต์สุกร) โรค ASF ไม่ใช่โรคเดียวกับโรคอหิวาต์สุกร หรือ Classical Swine Fever (CSF) ซึ่ง CSF เป็นโรค RNA virus ในสุกร มีวัคซีนป้องกันได้
ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรซึ่งมีหมูป่าเป็นแหล่งรังโรค และมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่า เป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก
โรค ASF ติดคนหรือสัตว์อื่นหรือไม่?
โรค ASF ติดในสัตว์ประเภทสุกร เท่านั้น ทั้งสุกรเลี้ยง และสุกรป่า ไม่ติดคนคนกินเนื้อสุกรที่เป็นโรคดังกล่าวก็ไม่มีอันตราย
สุกรติดเชื้อ ASF ได้อย่างไร?
สุกรมักติดเชื้อ ASF จากการกินเศษอาหารที่มีเชื้อโรคเข้าไป และการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนมากับคน สิ่งของ รถขนส่ง และสัตว์พาหะ ซึ่งสัตว์พาหะที่สามารถนำโรคได้โดยตรง ได้แก่ เห็บอ่อน ที่พบในทวีปแอฟริกาและยุโรปเท่านั้น ไม่พบในประเทศไทย และยังไม่มีรายงานว่าสามารถติดต่อกันได้โดยผ่านทางอากาศ
เชื้อ ASF อยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานแค่ไหน?
เชื้อโรค ASF มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- อยู่ในมูลสุกร และสิ่งแวดล้อม ได้ประมาณ 1 เดือน
- อยู่ในซากสัตว์ และในดินได้ถึง 3 เดือน
- อยู่ในเนื้อแปรรูป เนื้อแห้ง ได้ถึง 1 ปี
- อยู่ในเนื้อแช่แข็งได้ถึง 3 ปี
แล้วจะฆ่าเชื้อโรค ASF ได้อย่างไร?
เชื้อโรค ASF สามารถตายด้วยความร้อน 60 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที และมีรายงานการทดสอบยาฆ่าเชื้อส่วนใหญ่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ได้ ตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ หรือโดยทั่วไปจะใข้ 1:200 เช่น Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine เป็นต้น โดยมีระยะเวลาหลังฆ่าเชื้อประมาณ 5-30 นาที
อาการและรอยโรค ASF เป็นอย่างไร?
สุกรที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง จุดเลือดออก อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด และตายเกือบ 100% โดยสุกรจะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ 3-4 วัน
โรค ASF มีการระบาดที่ไหนบ้าง ส่วนประเทศไทยมีโรคนี้ระบาดหรือไม่?
พบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศเคนย่า ทวีปแอฟริกาเมื่อปี 2464 (ที่มาของชื่อ ASF) ปัจจุปันมีการระบาดแพร่ไปยังทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย สำหรับทวีปเอเชีย พบการระบาดครั้งแรกที่จีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ปัจจุบันได้แพร่ออกไปสู่มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา และล่าสุดที่ประเทศเกาหลีเหนือ รวม 5 ประเทศ
จะรู้ได้อย่างไรว่าสุกรที่ป่วยเป็นโรค ASF?
สามารถวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการและรอยโรค และทดสอบด้วยวิธี ASF Rapid test โดยหยดเลือดสดลงบน Testkit แล้วอ่านผล ส่วนการยืนยันผลควรใช้วิธี ASF-ELISA สำหรับตรวจภูมิคุมกัน ซึ่งจะให้ผลบวกเมื่อสุกรติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7-14วัน และวิธีตรวจ ASF-PCR สำหรับตรวจเชื้อไวรัสในกระเเสเลือดและเนื้อเยื่อในร่างกายสุกร ซึ่งจะให้ผลบวกเมื่อสุกรติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 3 วัน
โรค ASF มียารักษาและวัคซีนป้องกันหรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์กำลังทดลองเกี่ยวกับยาต้านไวรัส และวัคซีนป้องกันโรค ASF ในหลายๆ ประเทศ เช่น สเปน จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษและเกาหลีใต้ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลากว่าจะประสบความสำเร็จ
เราจะมีวิธีการป้องกันและควบคุมโรค ASF ได้อย่างไร?
การป้องกันโรค ASF สามารถทำได้ 3 ระดับดังนี้
- การป้องกันโรคระหว่างประเทศ (International biosecurity) การห้ามนำเข้าเนื้อและวัตถุดิบจากประเทศที่เกิดโรค การตรวจโรคจากผลิตภัณฑ์ที่สนามบิน ทางเรือโดยสาร ตามด่านทางการเข้า-ออกระหว่างชายแดน ไม่ให้นำเนื้อและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศที่มีการระบาดเข้าประเทศไทย เป็นต้น
- การป้องกันโรคภายในประเทศหรือระหว่างฟาร์ม หรือจากหน่วยงานภายนอกฟาร์ม (External biosecurity) เช่น โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ บริษัทยาสัตว์ บริษัทอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- การป้องกันโรคระดับฟาร์ม (Farm biosecurity) ฟาร์มหมูที่มีระบบป้องกันโรคที่ดีต้องปฏิบัติตาม 10 ข้อห้าม (บทความ) และ 10 ข้อปฏิบัติ (บทความ) ในการป้องกันโรค ASF เช่น การไม่นำเศษอาหารเลี้ยงสุกร การอาบน้ำเปลี่ยนชุดเข้าฟาร์มของพนักงาน การพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่ง การล้างพ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือน การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ เป็นต้น
ข้อมูลจาก : สำนักงานปศุสัตว์เขต 7, bangkokbiznews.com,
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ