สมุนไพรไทย » สมุนไพรไทยบอระเพ็ด รักษาเบาหวาน

สมุนไพรไทยบอระเพ็ด รักษาเบาหวาน

4 พฤศจิกายน 2022
1305   0

สมุนไพรไทยบอระเพ็ด รักษาเบาหวาน

สมุนไพรไทยบอระเพ็ด รักษาเบาหวาน

ที่มารูปภาพ : https://www.disthai.com

สวัสดีค่ะวันนี้ทางเพจ ได้มีสมุนไพรไทยช่วยรักษาโรค มาฝากกันค่ะ สมุนไพรไทยมีประโยชน์มากมายถ้าเรานำมาใช้ให้ถูกวิธี แต่ถ้าเราทานมากเกินไปมันก็อาจจะเป็นโทษได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอาหารหรือยาถ้าทานให้พอดี ก็จะเป็นผลดีเสมอค่ะ สมุนไพรไทยในวันนี้คือ บอระเพ็ด รักษาเบาหวาน ถึงบอระเพ็ดจะมีรสชาติที่ขม แต่สรรพคุณทางยานั้นมีมากทีเดียว

บอระเพ็ด เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ พบมากในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึง เอเชียใต้ เช่น อินเดีย และ ศรีลังกา ลักษณะเป็นไม้เลื้อย เนื้อแข็ง ยาวสูงสุดได้ถึง 15 เมตร เมื่อยังอ่อน เปลือกจะมีสีเขียว มีปุ่มขึ้นขรุขระ เมื่อแก่ขึ้น จะมีสีน้ำตาล เปลือกเถามีปุ่มขรุขระขึ้นหนาแน่น เนื้อเถามีสีเทาแกมเหลือง เมื่อกรีดหรือตัดเถาออกมา จะมียางสีเหลืองไหลออกมา มีรสขมจัด ส่วนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนดอกจะออกเป็นช่อ มีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง แยกเพศผู้ เพศเมียอยู่คนละช่อ ผลของบอระเพ็ด เมื่อสุกจะมีสีเหลืองหรือส้ม




โดยคนไทยในอดีตนิยมนำบอระเพ็ดทุกส่วนมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค เนื่องจากเชื่อกันว่า บอระเพ็ด สรรพคุณ ช่วยดับพิษร้อน สามารถแก้ไข้ได้ทุกชนิด และ ยังช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย ซึ่งไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น แม้แต่ในอินเดียหรือมาเลเซีย ก็มีการนำบอระเพ็ดมารักษาโรคด้วย โดยชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย นิยมใช้กิ่งบอระเพ็ดนำไปต้ม เพื่อใช้รักษาโรคเบาหวาน ในตำรายาของอินเดีย บางครั้งเรียก บอระเพ็ด ว่า โหราอมฤต ภาษาสันสกฤต เรียก อมฤตลดา บันทึกไว้ว่า ใช้บอระเพ็ด เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ แช่น แก้ไข้ ดีซ่าน ซิฟิลิส เป็นต้น

ประโยชน์ของบอระเพ็ด

ช่วยแก้ไข้ได้ทุกชนิด เนื่องจากมีรสขม ทำให้ บอระเพ็ด สรรพคุณ ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ช่วยแก้ไข้ได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัด ไข้จับสั่น ไข้ทรพิษ ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต สอดคล้องกับตำรายาไทย ชื่อ พิกัดยาแก้ไข้ 5 ชนิด ที่ระบุชื่อของ บอระเพ็ด ไว้ ร่วมกับสมุนไพรอย่าง รากย่านาง รากคนทา รากชิงชี่ และ ขี้เหล็กทั้ง 5 ชนิด ในการแก้ไข้

แก้อาการร้อนใน ดับกระหายน้ำ

บอระเพ็ด มีสารสำคัญชื่อ พิโครเรติน (picroretin) ที่นอกจากจะทำให้มีรสขมแล้ว ยังมีฤทธิ์เย็น ช่วยไล่ความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้แก้อาการร้อนใน ดับกระหายน้ำ

รักษาอาการเบื่ออาหาร ตำรายาไทย ระบุไว้ชัดเจนว่า หากนำ บอระเพ็ด มาต้มดื่ม จะช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยย่อย แก้ท้องร่วง ท้องเสีย บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ แก้โรคกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ใน “พิกัดตรีญาณรส” ก็ยังกล่าวไว้ว่า เถาบอระเพ็ด สามารถช่วยให้กลับมารู้รสอาหารได้ดี คู่กับสมุนไพรอย่าง ไส้หมาก รากสะเดา จึงช่วยรักษาอาการเบื่ออาหารได้

ลดน้ำตาลในเลือด จากงานวิจัยใหม่ พบว่า เมื่อใช้สารสกัดจากบอระเพ็ดฉีดเข้าไปในหนูทดลอง ที่ได้รับการกระตุ้นให้เป็นโรคเบาหวาน ผลการทดลองพบว่า สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เช่นเดียวกับ ผลการทดลองในผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม หากใช้รักษาอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มระดับเอนไซม์ในไตและตับ ทำให้เป็นอันตราย ดังนั้น จึงควรรอการศึกษาเพิ่มเติม และ ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะนำไปใช้รักษาโรคโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ใช้บำรุงไก่ชน นอกจากรับประทานเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว คนไทยยังนิยมนำมาใช้ในวงการไก่ชน โดยการนำบอระเพ็ดมาหั่นเป็นแว่นชิ้นเล็ก ๆ คลุกกับน้ำผึ้ง หรือ นำไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผง ผสมผงฟ้าทลายโจร ปนกับหัวอาหาร ให้ไก่ชนกิน จะช่วยบำรุงไก่ชน ให้มีพละกำลังแข็งแรงและใช้เป็นยาระบายให้กับไก่ชนด้วย




คนไทยนิยมนำ เถาของบอระเพ็ด มากินเพื่อรักษาโรค หรือ ใช้ประโยชน์มากที่สุด โดยหากจะกินให้มีประโยชน์จริง ๆ ควรกินทั้งที่ยังมีรสขม ซึ่งเทคนิคในการเลือกเถาบอระเพ็ด ควรเลือกเถาบอระเพ็ดที่อยู่ในระยะ เถาเพสลาด คือ ไม่อ่อน ไม่แก่ จนเกินไป และ มีรสชาติขมจัด เพราะหากเลือกเถาแก่ ผิวก็จะแตกแห้ง รสเฝื่อน ไม่มีรสขม หรือ ถ้าเลือกเถาที่อ่อนเกินไป ก็จะมีรสไม่ขมมาก

วัตถุดิบ สมุนไพรไทยบอระเพ็ด รักษาเบาหวาน

  1. บอระเพ็ด 1 คืบ
  2. น้ำสะอาด 3 ลิตร
  3. หม้อสแตนเลส 1 ใบ

ขั้นตอนและวิธีการทำ

  1. นำบอระเพ็ดมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เตรียมไว้
  2. ตั้งหม้อสแตนเลส เปิดไฟกลางค่อนไปทางอ่อน จากนั้นใส่น้ำลงไป ตามด้วยบอระเพ็ด ต้มให้เดือด
  3. แล้วกรองเอาแต่น้ำ มารับประทาน

วิธีรับประทาน

  • รับประทานหลังอาหาร เช้า – เย็น ครั้งละ 1 แก้วกาแฟ ต่อวัน
  • ทานต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 41 วัน

ข้อควรระวังที่ควรหลีกเลี่ยง ขณะรับประทานยาสมุนไพร บอระเพ็ด

  • งดอาหารรสหวานทุกชนิด

สิ่งที่ต้องทำทุกครั้งก่อนรับประทาน

  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลัง รับประทาน

ข้อมูลอ้างอิง : Sgethai , ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทย – หมอพื้นบ้าน วัดคีรีวงก์ ( วัดน้ำตก )

เรียบเรียงโดย : นงนุช


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ