บทความเกษตร/เทคโนโลยี » แนวทาง! ปลูกผักหวานป่า ยังไงให้รอด โตไว แตกยอดเยอะ

แนวทาง! ปลูกผักหวานป่า ยังไงให้รอด โตไว แตกยอดเยอะ

7 มิถุนายน 2022
2632   0

แนวทาง! ปลูกผักหวานป่า ยังไงให้รอด  โตไว แตกยอดเยอะ

ปลูกผักหวานป่า

ปลูกผักหวานป่า


ผักหวานป่า เป็นพืชที่ในวงศ์ Opiliaceae  และเป็นผักพื้นบ้านที่คนส่วนใหญ่รู้จักและนิยมบริโภค แต่จะมีให้บริโภคเฉพาะฤดูกาลเท่านั้นคือช่วง มีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นผักหวานที่เก็บจากป่าธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากยังมีการปลูกกันน้อย ซึ่งในบทความนี้ เรามี แนวทาง! ปลูกผักหวานป่า ยังไงให้รอด โตไว แตกยอดเยอะ มาฝากกันครับ
ปลูกผักหวานป่า  นั้นต้องดูแลตั้งแต่การปลูก ให้น้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช โรคแมลง และปลูกพืชร่มเงา จะทำให้ผักหวานป่ารอดตายสูง และเติบโตเร็ว อายุ 2 ปีครึ่ง สามารถเก็บผลผลิตได้โดยเฉพาะการปลูกระยะชิด จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ผลผลิต การควบคุมทรงต้นให้พอเหมาะ ทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตสะดวก ผักหวานป่าเป็นพืชที่ หลายคนเข้าใจว่าปลูกยาก แต่ยังมีหลายพื้นที่ที่มีการปลูกผักหวานป่าโดยใช้เทคโนโลยีการปลูกร่วมกับ การจัดการ ดูแลรักษา จะพบว่า “การปลูกผักหวานป่าไม่ยากอย่างที่คิด”  แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปครับ 
ปลูกผักหวานป่า

Cr : สวนผักหวานป่า กิ่งตอนผักหวานป่า อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี

 การขยายพันธุ์ผักหวานป่า นั้นสามารถทำได้ 4 วิธี ด้วยกันคือ
  1. การเพาะเมล็ด
  2. การตอนกิ่ง
  3. การชำไหล(ราก)
  4. การสกัดราก
ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป  และ การให้ผลผลิตที่ไวแตกต่างกันด้วย สำหรับเกษตรกรที่กำลังคิคจะปลูกผักหวานป่า  นั้นก็ต้องศึกษาหาข้อมูลประกอบ ให้ดีก่อนลงมือเพาะปลูก ว่าวิธีไหนเหมาะกับสภาพพื้นที่ของตัวเองมากที่สุด เพื่อลงอัตราการตาย ให้น้อยที่สุดครับ
คุณลุงเจริญ หนองหลวง และ คุณป้าละมุด
ปลูกผักหวานป่า

Cr : สวนผักหวานป่า กิ่งตอนผักหวานป่า อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี

เกษตรกรในพื้นที่ ตำบลท่าไม้ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีอาชีพเพาะกล้าผักหวานป่าขาย เนื่องจากผักหวานป่าเป็นอาหารที่ขื่นชอบของหลาย ๆ คน ประกอบกับการเพาะปลูกทำได้ไม่ง่ายนัก คุณป้าละมุด ซึ่งเป็นภรรยาของ คุณลุงเจริญ เล่าถึงขั้นตอนการเพาะว่าได้เรียนรู้จากคุณลุงเจริญ และสามารถเพาะเม็ดผักหวานป่าได้เช่นกัน ถือว่าเป็นเทคนิควิธี หรือภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันภายในครัวเรือน ซึ่งในการเพาะเม็ดผักหวานป่านั้น  มีขั้นตอนง่ายคือ
  • เริ่มจากการเก็บเมล็ดผักหวานป่าที่สุกหรือรับซื้อจากชาวบ้านที่ไปเก็บเม็ดผักหวานมาจากในป่า
  • นำเม็ดผักหวานมาหมักให้เปลือกยุ่ย แล้วบี้เอาเนื้อและเปลือกออกให้หมดหลือแต่เมล็ด
  • แล้วนำเม็ดผักหวานไปเพาะในกระบะที่ใส่แกลบดำและรดน้ำให้ชุ่มอย่าให้แห้ง  ประมาณ 1 เดือน พอรากงอกยาวประมาณ  1 นิ้ว ก็นำลงมาเพาะชำในถุงต่อไป
  • เมื่อต้นกล้าโตและมีใบจริง และต้นแข็งแรงก็นำไปปลูกได้เลย หรือ จะนำไปขายต่อให้กับผู้ที่สนใจก็ได้ เพราะราคาข่อนข้างดีเลยทีเดียว
หลังจากที่นำเม็ดผักหวานป่าไปเพาะจนงอกรากแล้วก็นำมาใส่ลงในแปลงปลูกเลยและใช้ขวดน้ำพลาสติกนำมาตัดหัวท้ายครอบเม็ดผักหวานป่าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันสัตว์ และ ศัตรูต่างที่จะมารบกวน เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งที่ได้รู้ได้เห็นจากแปลงปลูกผักหวานป่าของคุณลุงเจริญและคุณป้าละมุดในครั้งนี้  นี่เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งของเกษตรกรบ้านเราที่มากด้วยความสามารถ เรียนรู้จากธรรมชาติแล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการประกอบอาชีพได้อย่างน่าชื่นชม

การปลูกผักหวานป่าและบำรุงรักษา

การเตรียมดินปลูกผักหวานป่า

เริ่มเตรียมหลุมปลูกในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม โดยขุดหลุมขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ผสมวัสดุปลูกโดยใช้ดิน ปุ๋ยคอก แกลบดิบ ที่ย่อยสลายแล้ว อัตราส่วน 1:1:1 โดยปริมาตร ผสมคลุกเคล้า ให้เข้ากัน แล้วกลบลงในหลุมปลูก การเตรียมวัสดุปลูกที่ดี มีระบบการให้น้ำ และปลูกพืชใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ นั้นจะทำให้ ต้นผักหวานป่านั้นเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น

การเตรียมต้นกล้าผักหวานป่า

สร้างความแข็งแรงให้ต้นกล้า  ก่อนย้ายปลูกลงหลุมจริงด้วยการรดน้ำให้น้อยลง ให้ต้นกล้า ได้รับแสงแดดเพิ่มขึ้นทีละน้อย ละลายปุ๋ยโปแตสเซียมไนเตรท ความเข้มข้นไม่เกิน 2% (1 กรัมต่อน้ำ 50 ลิตร) รดต้นกล้าก่อนย้ายปลูก ประมาณ 2 อาทิตย์ และงดให้น้ำ 1 วัน ก่อนย้ายปลูก

ระยะปลูกผักหวานป่า

ผักหวานป่าสามารถปลูกได้หลายระยะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูก แต่แปลงที่มีการปลูกแล้วนั้น จะใช้ระยะปลูก 1×1 เมตร, 1.5×1.5 เมตร ซึ่งเป็นการปลูก ระยะชิด เพื่อเพิ่มจำนวนต้นและ ผลผลิตต่อไร่ ควรมีการ ตัดแต่งไม่ให้ต้นสูง และสร้างทรงพุ่มเล็ก เพื่อสะดวก ในการเก็บเกี่ยว หรือจะใช้ระยะปลูก 2-3 x 2-3 เมตร จะทำให้สะดวกในการดูแลจัดการสวน

การปลูกผักหวานป่า

หัวใจสำคัญของการปลูกผักหวานป่าให้รอดตาย คือ อย่าให้รากของผักหวานป่าได้รับการกระทบกระเทือนจนรากขาด การถอดถุงพลาสติกเพื่อนำต้นกล้าลงหลุมปลูกต้องระวังอย่าให้ตุ้มดินแตกหักหรือรากขาด เพราะจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต เป็นเวลานาน การปลูกควรให้ต้นกล้าสูงกว่าปากหลุมประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วพูนดินขึ้นกลบโคนโดยรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังหลุมปลูก ปลูกไม้พี่เลี้ยงเพื่อให้ร่มเงาผักหวานป่าในช่วง 2 ปีแรก เช่น มะเขือเปราะพริกโดยปลูกด้านข้างหลุมทางทิศตะวันตก ในแปลงปลูกผักหวานป่าต้องปลูกไม้ให้ร่มเงา เช่น ต้นมะขามเทศ ชะอม สะเดา น้อยหน่า เหลียง แค เลี่ยน ซึ่งนิสัยของผักหวานป่าจะชอบแสงแดดรำไร ปริมาณแสง 50% ชอบอากาศร้อน จะช่วยให้แตกยอดอ่อนได้ดี

การให้น้ำ

ในช่วงต้นฤดูฝน ผักหวานป่าจะได้น้ำจากน้ำฝนธรรมชาติที่ตกลงมา แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงต้องมีการให้น้ำช่วยในช่วงแรก ของการปลูกใหม่ หรือในหน้าแล้งโดยให้น้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง พอให้ดินชื้นอย่าให้ดินแฉะ ผักหวานป่าไม่ชอบน้ำมากนัก ในแปลงที่เกษตรกรปลูกนั้นจะมีการให้น้ำโดยระบบน้ำหยดบางส่วน

การเจริญเติบโตและการจัดทรงต้นผักหวานป่า

ในการปลูกผักหวานป่าด้วยการเพาะเมล็ดนั้น ไม่ควรชำอยู่ในถุงนานเกินไป รากอาจจะขดเมื่อนำไปปลูกลงแปลงและอาจทำให้รากฉีกขาดได้ ผักหวานป่าเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตช้ามาก เช่น อายุ 1 ปี อาจสูงไม่เกิน 1 ฟุต การเจริญเติบโตจะไม่สม่ำเสมอกัน และจะเจริญเติบโต แตกกิ่งกระโดงได้ดีในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงช่วงแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ผักหวานป่าแตกยอดให้ผลผลิต ผักหวานป่าต้นที่สมบูรณ์ อายุ 1 ปีครึ่ง จะสูงประมาณ 1-1.5 เมตร เมื่อผักหวานป่าโตเต็มที่จนเก็บผลผลิตได้จะมีอายุยืนมาก ในป่าธรรมชาติมีอายุกว่า 100 ปี สำหรับการปลูกผักหวานป่าเป็นสวน โดยเฉพาะการปลูกระยะชิด อาจต้องควบคุมความสูงของต้นและทรงพุ่มให้อยู่ที่ 1-1.5 เมตร เพื่อให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว

การกระตุ้นยอดอ่อนและการเก็บเกี่ยว

เมื่อผักหวานป่าเจริญเติบโตเต็มที่ ก็เริ่มทำการตัดแต่งกิ่ง โดยตัดปลายกิ่งแขนงทิ้งให้เหลือยาว 15-20 เซนติเมตร รูดใบแก่บางส่วนทิ้งให้เหลือติดกิ่ง ๆ ละ 3-4 ใบ พร้อม ๆ กับการให้น้ำพอดินชื้น เมื่อยอดแตกออกมายาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก็เก็บยอดไปจำหน่ายได้ โดยเก็บในช่วงเช้าไปจนถึงเที่ยงวัน จะหยุดเก็บเพราะอากาศร้อนยอดผักหวานจะเหี่ยวงอไม่สดชื่น

ต้นผักหวานที่สมบูรณ์ จะเริ่มให้ผลผลิตได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีครึ่ง เมื่อผักหวานป่าหมดยอดแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราส่วน 50-100 กรัม/ต้น ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นผักหวานป่าควบคู่กับปุ๋ยคอก 1-3 บุ้งกี๋ พร้อมกับให้น้ำเพื่อบำรุงต้นและพักต้น

ขอบคุณแหล่งข้อมูลที่มา : http://akatamnuai.sakonnakhon.doae.go.th/data/GAP.html , naykhaotom


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ