บทความเกษตร/เทคโนโลยี » การผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชโดยสารเร่ง พด.3

การผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชโดยสารเร่ง พด.3

18 ธันวาคม 2021
1856   0

การผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชโดยใช้สารเร่ง ซุปเปอร์ พด.3

การผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชโดยสารเร่ง พด.3


สารเร่ง พด.3  เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน โดยมีความสามารถป้องกันหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคพืชที่ทำให้เกิดอาการรากหรือโคนเน่า และแปรสภาพแร่ธาตุในดินบางชนิดให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ เชื้อไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma sp.) และ บาซิลลัส (Bacillus sp.)

การผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช

จุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช

หมายถึง จุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อสาเหตุโรคพืช สามารถทำลายและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคพืชได้โดยวิธีการแข่งขันการใช้อาหารเพื่อการเจริญได้ดีกว่าเชื้อโรคพืช หรือการเข้าทำลายเซลล์ของเชื้อโรคพืชโดยตรง และหรือการสร้างสารปฏิชีวนะยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคพืช

วิธีการขยายเชื้อ ซุปเปอร์ พด.3

วัสดุสำหรับขยายเชื้อ

  • ปุ๋ยหมัก    จำนวน 100   กิโลกรัม
  • รำข้าว      จำนวน    1    กิโลกรัม
    (อาจใช้วัสดุภายในท้องถิ่นที่มีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจนสูงแทนได้เช่นมูลไก่หรือมูลค้างคาว เป็นต้น)ฃ
  • สารเร่ง พด.3  จำนวน    1 ซอง (25 กรัม)

วิธีการขยายเชื้อ 

  • ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.3   และรำข้าวในน้ำปริมาณ 5 ลิตร คนให้เข้ากัน นาน 5 นาที
  • รดสารละลาย ซุปเปอร์ พด.3   ลงในกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  • ตั้งกองปุ๋ยที่คลุกผสมเข้ากันดีแล้ว  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร  และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้นให้ได้   60-70 เปอร์เซ็นต์
  • กองปุ๋ยหมักให้อยู่ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วันขึ้นไป

คุณสมบัติของจุลินทรีย์ในสารเร่งซุปเปอร์ พด.3

 สามารถป้องกันและควบคุมการเจริญของเชื้อราสาเหตุของโรคพืชเศรษฐกิจหลาายชนิดทั้งที่ปลูกในสภาพที่ดอน และ ในสภาพที่ลุ่ม ซึ่งได้แก่




  • โรครากและโคนเน่าของไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน ส้ม และยางพารา เป็นต้น
  • โรคเน่าคอดินและลำต้นเน่าของพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด พืชเส้นใยและพืชตระกูลถั่ว
  • โรคเน่าและเหี่ยวของพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ เช่น พริก มะเขือเทศ แตง กะหล่ำปลี เบญจมาศ และมะลิ เป็นต้น
  • ช่วยแปรสภาพแร่ธาตุในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
  • เจริญได้ดีในดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงและมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5

 การดูแลรักษาการขยายเชื้อสารเร่ง พด.3

  • ความชื้น : ควบคุมความชื้นกองปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอและใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยหมัก เพื่อรักษาความชื้น
  • การเก็บรักษาเชื้อสารเร่ง พด.3 : หลังจากขยายเชื้อเป็นเวลา 7 วัน เชื้อสารเร่ง พด.3 ในกองปุ๋ยหมักจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นโดยสังเกตได้จากกลุ่มของสปอร์และเส้นใย ที่มีลักษณะสีเขียวเจริญอยู่ในกองปุ๋ยหมักเป็นจำนวนมาก คลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม

อัตราและวิธีการใช้เชื้อสารเร่ง พด.3 ที่ขยายในกองปุ๋ยหมัก

  • พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ ใช้  100 กิโลกรัมต่อไร่ ระหว่างแถวก่อนหรือหลังปลูกพืช
  • ไม้ผล ไม้ยืนต้น ใช้ 3 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ตอนเตรียมหลุมปลูกโดยคลุกเคล้ากับดินใส่ไว้ในหลุม และช่วงพืชเจริญเติบโตให้หว่านทั่วบริเวณทรงพุ่ม
  • แปลงเพาะกล้า  ใช้ 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร โรยให้ทั่วแปลง

ประโยชน์ของเชื้อสารเร่ง พด.3

  • ทำลายและยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน
  • ลดและควบคุมปริมาณเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน
  • ทำให้ดินมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพิ่มขึ้น
  • ทำให้รากพืชแข็งแรงและพืชเจริญเติบโตได้ดี

    การต่อเชื้อ  เป็นการขยายเชื้อโดยไม่ต้องใช้สารเร่ง พด.3 แต่ใช้ปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อสารเร่ง พด.3 แล้ว จำนวน 2 กิโลกรัม แทนสารเร่ง พด.3 1 ซอง จะสามารถขยายเชื้อสารเร่ง พด.3 ได้จำนวน 100 กิโลกรัม

ข้อเสนอแนะ

  • ต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือไถกลบตอซัง ในพื้นที่เพาะปลูกก่อนใช้เชื้อสารเร่ง พด.3
  • อย่าให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก



  ที่มา : จากเอกสารเผยแพร่เรื่องสารเร่งประเภทจุลินทรีย์ พด.1 พด.2 พด.3
             กลุ่มวิจัยและพัฒนาอินทรีย์วัตถุเพื่อการเกษตร
             สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน
             กรมพัฒนาที่ดิน
             กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :