การเลี้ยงไข่ผำเพื่อรับประทานและเป็นอาหารสัตว์
สวัดดีครับ วันนี้เราจะมาพูดถึง “การเลี้ยงไข่ผำเพื่อรับประทานและเป็นอาหารสัตว์” ผำ หรือ ไข่ผำ ,ไข่แหน ไข่น้ำ นั้นจัดอยู่ในกลุ่มแหนเป็ด แหนแดง แหนเป็ดเล็ก แหนเป็ดใหญ่ (Fresh water Alga , Swapm Algae) ที่เป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็กที่สุดที่มีดอก พบได้ในเขตประเทศอบอุ่นทั่วโลก ทั้งเอเชีย และแอฟริกา ส่วนในประเทศไทยพบแพร่กระจายในทุกภาค ตามแหล่งน้ำนิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสระน้ำหรือบ่อน้ำขนาดเล็ก ซึ่งมักอยู่บนกับแหนเป็ดชนิดอื่นหรือลอยอาศัยที่ผิวน้ำเพียงชนิดเดียว
ไข่ผำ จัดเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ อาจลอยอยู่เป็นกลุ่มล้วน ๆ หรือลอยปนกับพืชชนิด
อื่นๆ เช่น แหน , แหนแดง ก็ได้ ไข่ผำ เป็นพืชมีดอกที่มีขนาดเล็กที่สุด รูปร่างเป็นเม็ดกลมเล็ก ๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๑ – ๐.๒ มม. มีสีเขียวลอยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นแพ มักเกิดในธรรมชาติที่น้ำใส นิ่ง เช่น บึง หนองน้ำ ผำจะพบมากในฤดูฝน นำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัดไข่ผำใส่หมู แกงไข่ผำ
ผำจะมีรสมัน ผำ ๑๐๐ กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย ๘ กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย เส้นใย ๐.๓ กรม แคลเซียม ๕๙ มิลลิกรม ฟอสฟอรัส ๒๕ มิลลิกรัม เหล็ก ๖.๖ มิลลิกรัม วิตามินเอ ๕๓๔๖IU วิตามินบีหนึ่ง ๐.๐๓ มิลลิกรัม วิตามินบีสอง ๐.๐๙ มิลลิกรัม ไนอาซิน ๐.๔ มิลลิกรัม วิตามินซี ๑๑ มิลลิกรัม คุณค่าทางโภชนาการของไข่ผำ มีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีนสูงมาก แต่เพราะใน ไข่ผำมีสารพิษต้านฤทธิ์สารอาหาร จึงต้องนำไข่ผำมาทำให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง
ผำมีการขยายพันธุ์ มี 2 แบบคือ
- การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เนื่องจากไข่แหนเป็นพืชมีดอกขนาดเล็กที่สุด ดอกของไข่แหนจะเจริญเติบโตออกทางช่องข้างบนของต้น ดอกไม่มีกลีบดอก และไม่มีกลีบเลี้ยง ดอกตัวผู้จะมีเกสรตัวผู้ 1 อัน ประกอบด้วยอับละอองเรณู 2 อับ ดอกตัวเมียมีรังไข่ที่มี 1 ช่องและมีไข่อยู่ 1 ใบ ก้านเกสรตัวเมียสั้น ยอดเกสรตัวเมียมีลักษณะแบน เมล็ดมีขนาดเล็ก กลมเกลี้ยง ยังไม่ปรากฏว่าไข่แหนมีดอกในประเทศไทย มีแต่รายงานการพบเห็นในประเทศอื่น ไข่แหนจะมีดอกและเมล็ดในราวๆเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม
- การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อ ซึ่งมีผู้ทำการศึกษา การเจริญเติบโตแล้วพบว่า โดยเฉลี่ย ไข่แหนแต่ละต้นจะแตกหน่อให้ต้นใหม่ทุกๆ 5 วัน
การเลี้ยงไข่ผำเพื่อรับประทานและเป็นอาหารสัตว์
ประโยชน์ของผำ
- ไข่ผำในทุกภาคนิยมช้อนเก็บมาทำอาหาร เนื่องจาก อาทิ แกงไข่ผำ ไข่เจียวไข่ผำ ยำไข่ผำ เป็นต้น
- ไข่ผำนำมาผัดให้สุก และตากแห้ง หรือนำมาตากให้แห้งก่อนนำมาผัดร่วมกับเกลือหรือเครื่องจิ้มที่ใช้สำหรับคลุกปะหน้าขนมขบเคี้ยว อาทิ แผ่นมันฝรั่งทอด ถั่วลิสงอบ เป็นต้น
- ไข่ผำใช้เป็นส่วนประกอบของขนม อาทิ ขนมเกรียบกุ้ง เป็นต้น
- ไข่ผำนำมาสกัดคลอโรฟิลล์สำหรับเป็นอาหารเสริม หรือหรือสกัดให้อยู่ในรูปของสารโซเดียมคอบเปอร์คลอโรฟิลลิ่น
- ไข่ผำสดใช้เป็นอาหารเลี้ยงเป็ด และเลี้ยงสุกร รวมถึงโค และกระบือ ช่วยให้เกษตรลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารสัตว์ได้
- ไข่ผำนำปล่อยในบ่อเลี้ยงปลาชนิดที่กินพืช อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาไน เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารเสริมตามธรรมชาติให้แก่ปลา ทั้งนี้ จะปล่อยในปริมาณน้อย และต้องควบคุมปริมาณไม่ให้แพร่กระจายปกคลุมผิวน้ำ
- ใช้ปล่อยในบ่อบำบัดน้ำเสียสำหรับลดค่าความสกปรกของน้ำ โดยเฉพาะสารไนโตรเจนที่เป็นแร่ธาตุสำคัญของการเติบโต และโลหะหนักชนิดต่างๆ
การเลี้ยงผำแบบง่ายๆ
1.เลี้ยงผำเพื่อรับประทานหรือเป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร
การเลี้ยงผำเพื่อรับประทานต้องใช้ความสะอาดเป็นพิเศษ นิยมเลี้ยงในรองบ่อซีเมนต์ หรือบ่อปูน เพราะเลี้ยงในบ่อดินเราควบคุมความสะอาดยาก
วิธีเตรียมบ่อและการเลี้ยง
- นำรองบ่อซีเมนต์ขนาด 80-90 ซม.มาวางในที่ร่มรำไร ถ้าวางกลางแจ้งต้องมุงหลังคาแสลน ที่พลางแสงได้ 50เปอร์เซ็นต์ สำหรับรองบ่อซีเมนต์ใหม่ ต้องลดความเป็นด่างด้วยการเติมน้ำให้เต็มรอง ใส่ต้นกล้วยสับเป็นแว่นใหญ่ๆลงไป หมักทิ้งไว้ 20วันจึงนำออกจากบ่อ ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง
- แบ่งรองบ่อเป็น4ส่วน เติมน้ำสะอาด 3ส่วน(ควรเป็นน้ำกรองดีที่สุด) ใส่น้ำหมักชีวภาพที่เป็นกลุ่มไนโตรเจนสูงเช่น จุลินทรีย์นมสด น้ำหมักกากถั่ว น้ำหมักปลา นำหมักมูลไส้เดือน เป็นต้น จำนวน 1ช้อนแกง
- ใส่พันธุ์ผำลงไปเลี้ยง 1 รอง ใส่ผำ 2 – 5 ขีด เปลี่ยนน้ำทุกๆ7วัน เลี้ยงประมาณ ครึ่งเดือน ก็สามารถช้อนไปใช้ประโยชน์ได้ อุปกรณ์ที่ช้อนคือสวิงช้อนสำหรับตู้ปลา
- การช้อนผำ ออกไปจากบ่อควรเหลือไว้ 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
วิธีการเลี้ยงทำแบบข้อที่ 3.
สำหรับกรณีที่ตักจะบ่อที่มีแหนอย่างอื่นปะปน เราไม่รู้เทคนิคจะแยกยาก เวลาช้อนใช้ตาข่ายที่ทำจากผ้ามุ้งเขียว ช้อนบริเวณที่มีผำธรรมชาติขึ้นอยู่ ซึ่งจะมีแหนหรือสิ่งอื่นๆปะปนอยู่ จากนั้นนำมาวางบนปากกะละมัง ราดน้ำลงไปแรงๆ ผำซึ่งมีขนาดเล็กกว่าช่องตาข่ายก็จะหลุดลอดช่องตาข่ายลงไป เราสามารถเก็บไปเลี้ยงได้ต่อไป ถ้าเลี้ยงในโหลแก้วขาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15-30 ซม. ใส่น้ำหมักไนโตรเจนสูง 1ช้อนแกง พันธุ์ผำ 1 ช้อนโต๊ะ เลี้ยงเหมือนเลี้ยงในรองซีเมนต์
2.การเลี้ยงผำเพื่อเป็นอาหารสัตว์
ผำจัดเป็นพืชที่มีโปรตีนค่อนข้างสูง อาจน้อยกว่าแหนแดงแต่มากกว่าแหนเป็ดมาก ดังนั้นถ้าเราเลี้ยงเอาไว้ผสมอาหารสัตว์หรือเป็นอาหารปลากินพืชในวัยอ่อนถือว่ามีประโยชน์มาก แม้กระทั่งปลาตู้ การเลี้ยงแบบนี้นิยมเลี้ยงในบ่อดิน ระดับน้ำไม่ควรเกิน50-60ซม. ร่องสวน คูน้ำสามารถเลี้ยงได้แต่ไม่ควรมีปลากินพืชอาศัยอยู่ เพราะจะกินผำที่เราเลี้ยง
การเตรียมบ่อเลี้ยง
- เตรียมล้างทำความสะอาดบ่อ จับปลาที่กินพืชออกให้หมด
- เติมสารอาหารให้ผำ เช่นมูลไส้เดือนใช้อัตรา 1กก./พื้นที่5ตารางเมตร ที่ระดับน้ำ50ซม หรือปุ๋ยยูเรีย อัตรา1กก./พื้นที่30 ตารางเมตรที่ระดับน้ำ 50-60ซม
- ปล่อยพันธุ์ผำลงไป 1กก./พื้นที่ 10 ตารางเมตร
- เลี้ยงไว้ประมาณ 20วันจึงค่อยช้อนไปเป็นอาหารสัตว์ เหลือไว้ 40เปอร์เซ็นเพื่อขยายพันธุ์ต่อ
การเลี้ยงในบ่อดิน ควรเป็นบ่อที่มีนำใสสะอาด มีการถ่ายน้ำบ้างเป็นระยะๆ
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
- ผำที่เลี้ยงในบ่อดิน ถ้าหากเราต้องการไปรับประทานหรือจำหน่ายเป็นอาหาร เราต้องช้อนไปเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ผำสะอาด ไม่เหม็นกินโคน
- ผำที่เลี้ยงในร่องสวน ควรมีการพลางแสงประมาณ50เปอร์เซ็นต์ อาจจะใช้ร่มไม้ในสวนช่วยพลางแสง หรือแสลนกางเพื่อพลางแสง
- ผำสามารถแปลรูปเป็นอาหารได้หลากหลายรูปแบบ แต่ตัวผำนั้น ไม่มีรสชาดในตัวเอง ทำให้อาหารที่ปรุงจากผำมีรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง
- ปัจจุบันผำสามารถเพาะจำหน่ายได้ ราคาอู่ในช่วง กก.ละ80-120บาท
- ผำ สามารถใส่ถุงเก็บในตู้เย็นได้15-30วัน อยู่ที่แพคกิ้ง ห้ามใส่ช่องแช่แข็ง
- ผำเป็นพืช ที่ใช้วัดค่าน้ำ น้ำเสีย นำปนเปื้อนสารเคมี ผำจะไม่เจริญเติบโต
เอกสารอ้างอิง: นัย บำรุงเวช. โรงพิมพ์พิฆเนศ กทม. ผำเม็ดเล็กคุณภาพล้น. เทคโนโลยีชาวบ้าน.ปีที่8 ฉบับที่150 ประจำวันที่1 กันยายน 2539
ที่มา : Facebook เรียนเกษตรง่ายๆกับครูชาตรี
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ