สาระน่ารู้ » ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ศาสตร์พระราชา

ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ศาสตร์พระราชา

15 มกราคม 2020
5860   0

ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ศาสตร์พระราชา

ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง

ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง


“ ทฤษฏีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ” เป็นแนวทางที่ใช้ลำดับขั้นเพื่อเดินตามไปทีละขั้น ค่อยๆ ก้าวไปแบบยั้งยืนและมั่นคง ซึ่งหากใครทำตามได้รับรองว่าไม่มีจนแน่นอน 

ทฤษฎีใหม่กับเศรษฐกิจพอเพียง

“..การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้นซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด…”

” พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 “

“ทฤษฏีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง” เป็นแนวทางที่ใช้ลำดับขั้นเพื่อเดินตามไปทีละขั้น ค่อยๆ ก้าวไปแบบยั้งยืนและมั่นคง ซึ่งหากใครทำตามได้รับรองว่าไม่มีจนแน่นอน

บันไดขั้นที่ ๑-๔ คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน

ขั้นที่ ๑ พอกิน

พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ ความต้องการปัจจัย ๔ และประการสำคัญที่สุดของปัจจัย ๔ คือ อาหาร ขั้นที่ ๑ ของแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ ตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำอย่างไรจึงจะพอกิน” โดยให้ความสำคัญกับ ข้าวปลาอาหาร ไม่ให้ความสำคัญกับเงิน ซึ่งเป็นเพียงแค่ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนตามมาตรฐานสากล โดยยึดหลักว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”  เกษตรกรต้องเริ่มจากการอยู่ให้ได้โดยไม่ใช้เงิน มีอาหารพอมี พอกิน ด้วยการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ให้พอกิน ชาวนาต้องเก็บข้าวไว้ให้เพียงพอสำหรับการมีกินทั้งปี ไม่ขายข้าวเปลือกเพื่อนำเงินไปซื้อข้าวสารนอกจากนั้น หัวใจสำคัญของ พอกิน ยังมีความหมายรวมไปถึงความปลอดภัยในอาหาร กินอย่างไรให้มี สุขภาพดี ไม่สะสมเอาความเจ็บไข้ได้ป่วยไว้ในร่างกาย นี่คือความหมายของบันไดขั้นที่ ๑ ที่เกษตรกรต้องก้าวข้ามให้ได้

ขั้นที่ ๒-๔ พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น

บันไดขั้นที่ ๒-๔ พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เกิดขึ้นได้พร้อมกัน ด้วยคำตอบเดียวคือ “ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่างซึ่งป่า ๓ อย่าง” จะให้ทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สมุนไพรสำหรับรักษาโรค ทั้งโรคคน โรคพืช โรคสัตว์ ให้ไม้สำหรับทำบ้านพักที่อยู่อาศัย และให้ความร่มเย็นกับบ้าน กับชุมชน กับโลกใบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังสามารถย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งสะสมพอกพูนจากการทำ เกษตรเชิงเดี่ยว ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาความขาดแคลนนำ ภัยแล้ง ทั้งหมดล้วนแก้ไขได้จากแนวคิดป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่างขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

บันไดขั้นที่ ๕-๙ คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า

ขั้นที่ ๕-๖ บุญและทาน
เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมั่นว่าสังคมไทยเป็นสังคมบุญ สังคมทาน ไม่เน้นการแลกเปลี่ยนทางการค้า แต่เน้นการทำบุญ ไม่เน้นการสะสมเป็นของส่วนตัว แต่เน้นการให้ทานและสะสมโดยมอบให้เป็นทรัพย์สินส่วนรวมโดยวัด หรือศาสนสถานตามแต่ละศาสนาเป็นศูนย์กลาง เป็นการฝึกจิตใจ ให้ละซึ่งความโลภ และกิเลสในการอยากได้ ใคร่มี ลดปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้น ตามความหมายอันลึกซึ้งของคำ “Our Loss is Our Gain” หรือ “ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี” การให้ไปคือได้มา และเชื่อมั่นในฤทธิ์ของทาน ว่าทานมีฤทธิ์จริง และจะส่งผลกลับมาเป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร เป็นเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันในทุกสถานการณ์ แม้ในวันที่โลกนี้ประสบกับวิกฤตการณ์

ขั้นที่ ๗ เก็บรักษา
 ขั้นต่อไปหลังจากสามารถพึ่งตนเองได้ พอมี พอเหลือทำบุญ ทำทานแล้ว คือการรู้จักเก็บรักษา ซึ่งเป็นการตั้งอยู่ในความ ไม่ประมาท และการรู้จักเก็บรักษา ยังเป็นการสร้างรากฐานของการเอาตัวรอดในเวลาเกิดวิกฤตการณ์ โดยยึดแนวทางตามวิถีชีวิตชาวนาสมัยก่อนซึ่งเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉางเพื่อ ให้พอมีกินข้ามปี คัดเลือกและเก็บรักษา “ข้าวพันธุ์” ไว้สำหรับเป็นพันธุ์ข้าวในปีต่อไป ซึ่งผิดกับวิถีชาวนาในปัจจุบันที่ใช้วิธีการขายข้าวทั้งหมด แล้วนำเเงินที่ขายได้ไปซื้อพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกในปีต่อไป ส่งผลให้เกิดการขาดความมั่นคงและเปรียบเสมือนการใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสาย ความประมาท เพราะหากเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ย่อมหมายถึงปัญหาหนี้สินและการขาดแคลนพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในปีต่อไปนอกจากเก็บพันธุ์ข้าวแล้ว ยังเน้นให้รู้จักวิธีการ ถนอมอาหาร การสะสม อาหารไว้กินในยามหน้าแล้ง ด้วยการแปรรูปอาหารหลากชนิด อาทิ ปลาร้า ปลาแห้ง มะขามเปียก พริกแห้ง หอม กระเทียม เพื่อเก็บไว้กินในอนาคต

ขั้นที่ ๘ ขาย
เนื่องจาก เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจการค้า แต่ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจหลังเขา การค้าขายสามารถทำได้ แต่ทำภายใต้การรู้จักตนเอง รู้จักพอประมาณ และทำไปตามลำดับ โดยของที่ขาย คือ ของที่เหลือจากทุกขั้นแล้วจึงนำมาขาย เช่น ทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าวปลอดสารเคมี ไม่ทำลายธรรมชาติ ได้ผลผลิตเก็บไว้พอกิน เก็บไว้ทำพันธุ์ ทำบุญ ทำทาน แล้วจึงนำมาขายด้วยความรู้สึกของการ “ให้” อยากที่จะให้สิ่งดีๆ ที่เราปลูกเอง เผื่อแผ่ให้กับคนอื่นๆ ได้รับสิ่งดีๆ นั้นๆ ด้วยการค้าขายตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการค้าที่มองกลับด้าน “เพราะรักคุณจึงอยากให้คุณได้รับในสิ่งดีๆ” พอเพียงเพื่ออุ้มชู เผื่อแผ่ แบ่งปัน ไปด้วยกัน

ขั้นที่ ๙ (เครือ) ข่าย กองกำลังเกษตรโยธิน
คือการสร้างกองกำลังเกษตรโยธิน หรือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งประเทศ เพื่อขยายผลความ สำเร็จตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิวัติแนวคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ในชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาวิกฤต ๔ ประการ อันได้แก่ วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ (Environmental Crisis) วิกฤตการณ์โรคระบาดทั้งในคน สัตว์ พืช (Epidemic Crisis) วิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง (Economic Crisis) วิกฤตความขัดแย้งทางสังคม/สงคราม (Political/Social Crisis)

โดยสรุปแล้ว ‘ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง’ เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต และการทำการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้ให้ดำเนินการโดยใช้หลักปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวคิดในการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในพื้นที่ที่เหมาะสม กล่าวคือเป็นพื้นฐานความคิดจากการเกษตรผสมผสาน ผนวกกับการบริหารจัดการพื้นที่จำนวนน้อย การบริหารจัดการแหล่งน้ำ เพื่อให้เป็นการผลิตเพื่อยังชีพมีผลผลิตพอกินตลอดทั้งปีจนเมื่อผลผลิตเหลือแล้วจึงนำไปจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว นั่นคือเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน เมื่อก้าวข้ามขั้นพื้นฐานสู่ขั้นก้าวหน้าแล้วก็จะกล่าวถึงการร่วมกลุ่มกันของเกษตรกรเพื่อพัฒนาการผลิตสู่วิสาหกิจชุมชน และเพื่อการดูแลกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาโดยชุมชน การพัฒนาสังคมและการอยู่ร่วมกันโดยมีศาสนาเป็นศูนย์กลาง ก่อนขยายผลสู่ก้าวต่อไปด้วยการเสาะแสวงหาแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับคุณภาพชีวิต


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ