บทความเกษตร/เทคโนโลยี » กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ปลูกง่ายรสชาติอร่อย

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ปลูกง่ายรสชาติอร่อย

11 พฤศจิกายน 2022
2413   0

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ปลูกง่ายรสชาติอร่อย

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง


เริ่มปลูกที่จังหวัดพิษณุโลก

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ถูกนำมาปลูกที่อำเภอบางกระทุ่มจังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2475 ได้รับการขยายพันธุ์และปลูกจนเต็มพื้นที่ เพื่อจำหน่ายผลผลิตสด เนื่องจากลักษณะพื้นที่ตอนเหนือและตอนกลางของจังหวัดพิษณุโลกและตำบลท่าพ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเขตที่ราบสูง และมีภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกันอีกทั้งยังมีดินตะกอนที่อุดสมบูรณ์ สภาพอากาศร้อนเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกล้วย




แต่เมื่อผลผลิตออกมา พบว่า ผลของหวีสุดท้ายปลายเครือ หรือที่เรียกว่า “กล้วยตีนเต่า” มีขนาดผลเล็กเป็นจำนวนมาก ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ไม่สามารถขายได้ เกิดปัญหาผลเน่าเสีย จึงเกิดความคิดที่จะนำผลกล้วยดังกล่าว ไปตากแดดเพื่อเป็นการถนอมอาหาร โดยไม่ได้ใส่ส่วนผสมใดๆ ในการเพิ่มรสชาติ จนกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อของจังหวัดพิษณุโลกเป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วไป

ลักษณะเด่นของพันธุ์กล้วย

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง อยู่ในสกุล Mนรa มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Musa (ABB) ‘Namwa Mali – ong’ และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอยู่หลายชื่อ เช่น น้ำว้าอ่อง (ภาคเหนือ) น้ำว้าเขมร (จันทบุรี) เป็นต้น มีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะโดยทั่วไป มีลำต้นเทียมสูง 3.5 – 4 เมตรกาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียวปนแดง มีประดำเล็กน้อยด้านในสีเขียวอ่อน กาบใบมีร่องค่อนข้างแคบ เส้นกลางใบมีสีเขียวอมชมพู กล้วยเครือหนึ่งมีประมาณ 9 – 16 หวี หวีละ 16 – 18 ผล น้ำหนักทั้งเครือประมาณ 26 กิโลกรัม

รูปทรงผลกลม อ้วนป้อม และเบียดกันแน่น ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ผลโต ปลายผลป้อม ก้านผลสั้น ผลดิบสีเขียวอ่อนถึงเขียวนวล ผลแก่สีเขียวสด ผลสุกเปลือกบางสีเหลืองจำปาไส้สีขาวอมเหลือง เนื้อสีครีมนิ่มละเอียด รสหวานจัดและไม่มีเมล็ด

ผลสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลายประเภทแต่ที่มีชื่อเสียงมาก คือ กล้วยตาก และกล้วยแผ่นอบเนื่องจากไส้กลางไม่แข็งเมื่อแห้ง เนื้อเหนียวนุ่ม มีขนาดกะทัดรัดและมีกลิ่นหอมมากกว่ากลัวยน้ำว้าพันธุ์อื่นๆ 

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

การปลูกและดูแลให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี

การปลูกและดูแลกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง เริ่มจาก การเตรียมดินโดยไถพลิกกลับดินลึกประมาณ 30 เซนติเมตร และตากดินทิ้งไว้ 7 – 10 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช จากนั้นใส่ปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรคตายพราย และไถพรวนกลบเพื่อทำให้ดินร่วนโปร่ง หากพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ควรยกร่องเพื่อระบายน้ำและปลูกบนแนวสันร่อง

ระยะปลูก ควรคำนึงถึงแสงแดด โดยวางแปลงในแนวทิศเหนือ – ใต้ จะทำให้ต้นกล้วยได้รับแสงเท่ากันตลอดทั้งแปลง โดยปกติใช้ระยะปลูก 4 x 4 เมตร หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำให้ปลูกระยะถี่ หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ดีให้ปลูกระยะห่าง และถ้าต้องการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียวอาจปลูกให้ระยะถี่ขึ้นได้ แต่ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวหลายๆ ครั้งควรเว้นระยะให้มากขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการแตกหน่อ




ควรใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในการปลูกเพราะมีความปลอดภัยจากโรคและแมลงศัตรูพืช และเป็นต้นพันธุ์ที่มีอายุใกล้เคียงกัน สามารถให้ผลผลิตในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน หากใช้หน่อพันธุ์ปลูกควรเลือกจากแปลงที่เชื่อถือได้ โดยสังเกตจากต้นแม่ขณะตกเครือไม่แสดงอาการของโรคตายพราย

หลุมปลูก ควรกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และลึกไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร เนื่องจากต้นกล้วยมีระบบรากหากินบริเวณผิวดินและแผ่ออกไปรอบทรงพุ่ม ปลูกโดยวางหน่อพันธุ์ที่เตรียมไว้กลางหลุมปลูก กลบดินโดยรอบให้แน่นหากปลูกในฤดูฝน ควรพูนดินกลบโคนให้สูงไว้เพื่อป้องกันน้ำขัง ส่วนการปลูกในฤดูอื่นควรทำเป็นแอ่งน้ำ เพื่อขังน้ำและไม่ให้ดินแห้งเร็วจนเกินไป

การให้น้ำ ควรสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูกปริมาณน้ำที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกล้วย อยู่ระหว่าง 17 – 20 ลิตรต่อต้นต่อวัน

การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยหมักในช่วงเดือนที่ 1 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 125 กรัมต่อต้น ส่วนช่วงเดือนที่ 3 ใส่ปุ๋ยหมักอัตรา 1 – 2 กิโลกรัมต่อต้น เดือนที่ 4 และ 5 ใส่ปุยเคมีสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา125 กรัมต่อต้น และเดือนที่ 6 ใส่ปุ๋ยหมักอัตรา 1 – 2กิโลกรัมต่อต้น สำหรับกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องที่ผลิตเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปเป็นกล้วยตาก ไม่ควรใส่ปุ๋ยเคมีตั้งแต่เดือนที่ 7 เพราะจะทำให้ผลกล้วยมีปริมาณน้ำตาลสูงเกินไป ส่งผลทำให้ได้กล้วยตากที่มีสีน้ำตาลเข้มและมีอายุการเก็บรักษาที่สั้นลง

การไว้หน่อ หลังจากปลูกกล้วยไปแล้วประมาณ 5 – 6 เดือนกล้วยจะเจริญเติบโตมากขึ้นและมีหน่อกล้วยที่เจริญขึ้นมาพร้อมกับต้นแม่ 4 – 5 หน่อ ควรทำลายหน่อโดยใช้มีดปาดหน่อให้เหนือดินประมาณ 10 เซนติเมตร และควรไว้หน่อในทิศทางตรงกันข้ามกันเพื่อแทนต้นแม่เดิมโดยหน่อที่ 1 และหน่อที่ 2 อายุห่างกันประมาณ 4 เดือนหากมีการไว้หน่อที่ถูกต้องจะทำให้มีผลผลิตกล้วยสดออกตลอดทั้งปีและมีวัตถุดิบส่งออกไปทำเป็นกล้วยตากได้เพียงพอกับความต้องกา

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,www.kasetbanna.com




บทความอื่นๆที่น่าสนใจ