การเลี้ยงหมูป่า (Sus scrofa) อาชีพเสริมเพิ่มรายได้
การเลี้ยงหมูป่า (Sus scrofa) อาชีพเสริมเพิ่มรายได้ หมูป่า เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายสามารถใช้อาหารในท้องถิ่นที่มีคุณภาพต่ำและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นอาหารได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันความต้องการในการบริโภคเนื้อหมูมีค่อนข้างมาก แต่มีผู้เลี้ยงน้อยทำให้ผลผลิตเนื้อหมูป่ามีไม่เพียงพอ ดังนั้น ราคาเนื้อหมูป่าจึงสูงกว่าราคาเนื้อหมูปกติทั่วไป เกษตรกรจึงหันมาสนใจเลี้ยงมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเลี้ยงหมูป่าในเชิงอนุรักษ์ เพื่อทดแทนหมูป่าตามธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลง หรือ แถบหาได้ยากมากๆในธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริญสำหรับเกษตรกร เพราะเลี้ยงง่ายทนทาน และ ที่สำคัญกินง่ายและโตไวราคาดี
พฤติกรรมของหมูป่าตามธรรมชาติ ก่อนที่จะทำการเลี้ยงสัตว์อะไร นั้นเราจำเป็นจะต้องรูปธรรมชาติของสัตว์นั้นเสียก่อน การเลี้ยงหมูป่า ก็เช่นเดียวกัน ผู้เลี้ยงจะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมความต้องการของหมูป่า ทั้งอาหาร และ ความเป็นอยู่รวมไปถึงโรคต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับการเลี้ยงหมูป่าเช่นเดียวกัน ซึ่งหมูป่านั้นชอบอยู่แบบธรรมชาติในพื้นที่ค่อนข้างกว้างเป็นไร่ และชอบอยู่เป็นฝูงผู้เลี้ยงสามารถที่จะทำครอกเรื่องแบบธรรมชาติก็ได้ และรอมรั้วให้ดีเพื่อป้องกันหมูป่าออกไปด้านนอก และปล่อยหมูป่าเข้าไปเลี้ยงตามความเหมาะสม อาจเลี้ยงควบคู่การทำสวนให้หมูป่ามีป่ามีร่มเงา สำหรับกินอาหาร อาหารพวกผักหญ้า หรือของเหลือจากผลิตผลทางการเกษตร หมูป่า จะมีสุขภาพดีไม่เกิดความเครียด กินอาหารได้เยอะและโตเร็ว นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดการที่ดี เช่น การผสมพันธุ์ จะจัดการบริเวณให้หมูป่าได้อยู่เป็นสัดส่วน เช่น หมูที่ผสมแล้ว หมูรอการคลอด ตลอดทั้งลูกหมูเล็ก ทุกอย่างใช้หลักธรรมชาติของหมู
การเตรียมตัวสำหรับเลี้ยงหมูป่า
- พื้นที่ที่ใช้เลี้ยงหมูป่า สำหรับพื้นที่ ที่จะใช้เลี้ยงหมูป่านั้นต้องอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาถูก หรือมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงหมูป่าอย่างเพียงพอ และ ประหยัดต้นทนในเรื่องอาหารได้เป็นอย่างดี เพราะหมูป่ากินอาหารง่ายและหลากหลาบชนิด
- เกษตรกรต้องมีความรู้ และประสบการณ์ในการเลี้ยงหมูป่า ซึ่งสามารถหาความรู้หรือศึกษาได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอินเตอร์เน็ต เช่น facebook หรือ youtrube และอาจโทรสอบถามฟาร์มต่างๆที่เราจะซื้อพ่อแม่พันธุ์หมูป่าก็ได้
- ต้องมีแหล่งจำหน่ายพันธุ์หมูป่า และตลาดรับซื้อหมูป่าที่ชัดเจนแน่นอน ก่อนลงมือเลี้ยง
“การเลี้ยงหมูป่า (Sus scrofa) อาชีพเสริมเพิ่มรายได้”
สายพันธุ์หมูป่า
ลักษณะรูปร่างของหมูป่าทั่วไปจะมีขนหยาบแข็ง มีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำเข้ม หรือสีดอกเลา หนังหนา หน้ายาว จมูกยาวและแหลมกว่าสุกรพันธุ์พื้นเมือง ขาเล็กและเรียว ดูปราดเปรียว ทั่วไปจะพบ อยู่ 2 พันธุ์ คือพันธุ์หน้ายาว และพันธุ์หน้าสั้น
หมูป่าพันธุ์หน้ายาว จะมีลักษณะขนสีดอกเลาลำตัวค่อนข้างบางรูปร่างสูงโปร่ง กว่าพันธ์หน้าสั้น หนังหนากว่าพันธุ์หน้าสั้น หมูป่าพันธุ์นี้โดยธรรมชาติแล้วมักจะหากินตามป่าตื้น ๆ
หมูป่าพันธุ์หน้าสั้น จะมีรูปร่างที่ผิดจากพันธุ์แรกคือ รูปร่างไม่ค่อยสูงโปร่งหน้าตาคล้ายหมูพันธุ์ไหหลำที่พวกแม้วนิยมเลี้ยง ลำตัวอ้วนกลม ขนสีดำ ลำตัวเตี้ยกว่า หนังบางกว่า แต่หนังจะหนาได้เร็วกว่าหมูป่าพันธุ์หน้ายาว หนังหนาหนังบางจะมีผลต่อราคาเนื้อหมูชำแหละ เพราะผู้บริโภคมักนิยมกินหนังหมูป่าเพราะมีความกุบกรอบ เวลาชำแหละเนื้อหมูจึงต้องให้มีหนังติดทุกชิ้น หมูป่าพันธุ์นี้ถ้าอยู่ตามธรรมชาติมักหากินตามป่าลึก ๆ
ด้านโรงเรือนและอุปกรณ์
เนื่องจากหมูป่ายังมีพฤติกรรมเป็นสัตว์ป่า มีอาการตื่นเมื่อคนอยู่ใกล้ และอาจจะแสดงอาการดุร้าย ดังนั้นโรงเรือนจะต้องสร้างให้แข็งแรงทนทาน โดยใช้วัสดุก่อสร้างที่หาในบริเวณพื้นที่ อาจไม่จำเป็นต้องเทพื้นซีเมนต์แต่ต้องมีรั้วรอบที่มิดชิด ป้องกันหมูป่าขุดดินมุดหนีออกมานอกรั้วได้ ควรจะมีการแยกคอกพ่อ-แม่พันธุ์ คอกคลอดเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดกับลูกหมูป่า
อาหารและการให้อาหาร
อาหารหมูป่ามีความหลากหลาย เนื่องจากหมูป่าสามารถใช้อาหารในท้องถิ่นที่มีคุณภาพต่ำและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี เช่น ต้นกล้วย มันสำปะหลัง มันเทศ ข้าวโพด ผลปาล์มผักชนิดต่างๆ นอกจากนี้สามารถผสมอาหารเลี้ยงหมูป่าได้เอง โดยใช้มันเส้นสับเป็นชิ้นเล็กๆ 60 ส่วน รำ 40 ส่วน เกลือป่นเล็กน้อยคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักในภาชนะปิดสนิทนาน 1 เดือน จากนั้นนำมาให้
หมูป่ากินเป็นอาหาร โดยให้วันละมื้อ
การจัดการเลี้ยงดู
เกษตรกรควรเริ่มด้วยการเลี้ยงหมูป่าพ่อแม่พันธุ์อายุ 3 เดือน การจัดการเลี้ยงดูหมูป่า ควรใช้อัตราการผสมพันธุ์พ่อพันธุ์ 1 ตัวต่อแม่พันธุ์ 5-10 ตัว หมูสาวผสมพันธุ์เมื่ออายุได้ 7 เดือนและจะอุ้มท้อง 114 วัน โดยจะให้ลูกประมาณ 5-6 ตัวต่อคอก ซึ่งพ่อแม่พันธุ์จะสามารถเลี้ยงเพื่อผสมพันธุ์ได้นานประมาณ 5-6 ปี การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ควรจะต้องแยกเป็นสัดส่วน เมื่อแม่หมูป่าท้องใกล้คลอด จะต้องแยกแม่ออกจากฝูงมาอยู่ที่คอกคลอดเพื่อป้องกันพ่อหมูป่ากัดทำร้ายลูก ซึ่งในระยะนี้ผู้เลี้ยงควรระวัง อันตรายจากแม่หมูป่า เพราะจะมีนิสัยดุร้ายขึ้น ดังนั้นผู้เลี้ยงควรที่จะรบกวนแม่หมูป่าให้น้อยที่สุด การเลี้ยงปัจจุบันจะมุ่งเพื่อการจำหน่ายพันธุ์ได้แก่ ลูกหมูป่าอายุ 3 เดือน แต่ถ้าเลี้ยงจนโต หมูป่าที่โตเต็มที่จะหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ก็จะจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้
การสุขาภิบาล
ถึงแม้ว่าหมูป่าจะมีสุขภาพแข็งแรงกว่าสุกรชนิดอื่นๆ แต่ผู้เลี้ยงก็ควรจะต้องให้ความสนใจ หมั่นดูแลสุขภาพหมูป่าที่เลี้ยง ควรมีการถ่ายพยาธิและทำวัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนด
ต้นทุนและผลตอบแทน
สำหรับการเลี้ยงหมูป่า 1ชุด ซึ่งประกอบด้วย พ่อพันธุ์ 1 ตัวและแม่พันธุ์ 5 ตัว
ต้นทุน
ในส่วนต้นทุนหลัก จะได้แก่ค่าพ่อแม่พันธุ์ ค่าโรงเรือนและอุปกรณ์ ซึ่งจะมีต้นทุนประมาณ 15,000-25,000 บาท ส่วนต้นทุนอื่นๆ จะได้แก่ค่าอาหารเสริม ค่าเวชภัณฑ์ และค่าวัคซีนประมาณ 7,000-8,000 บาท
ผลตอบแทน
จะได้จากการจำหน่ายลูกหมูป่า (อายุ 3 เดือน) ประมาณปีละ 30 ตัว จำหน่ายในราคาตัวละ 1,500 บาท มีผลตอบแทนประมาณ 45,000-50,000 บาท โดยในปีต่อมาผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นและ จะมีจุดคุ้มทุนในปีที่ 3
การจำหน่ายและตลาดของหมูป่า
สำรับการจำหน่ายลูกหมูพันธุ์ การจำหน่ายลูกหมู นั้นจะจำหน่ายในช่วงที่ลูกหมูป่าหลังอย่านมอายุประมาณ 60 – 90 วัน ส่วนราคาโดยประมาณ คู่ละ 2,000 –3,000 บาท ขึ้นอยู่กับลักษณะและความสมบูรณ์ โดยตัวผู้จะมีราคาถูกกว่าตัวเมีย การเลี้ยงหมูป่า มีต้นทุนต่ำ แต่ให้ผลผลิตที่น่าพอใจ และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่มากเช่นกัน
ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนจะมีความผันแปรไปตามสภาวะการตลาด ขนาดการผลิต และแหล่งที่เลี้ยงเป็นสำคัญ ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจเลี้ยงเกษตรกรจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและรายละเอียด การเลี้ยงให้ชัดเจน
ขอบคุณแหล่งที่มา : กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน, สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ : 0-2629-8972, email : [email protected], www.opsmoac.go.th
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ