ปลูกกะหล่ำปลี ง่ายๆ ไว้รับประทานเองที่บ้าน
ปลูกกะหล่ำปลี
กะหล่ำปลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica oleracea var. capitata L. จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE) ส่วนใหญ่ที่เราเห็น ๆ กันจะเป็นกะหล่ำปลีสีเขียว แต่สีอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน เช่น ขาว ม่วง และแดง
ต้นกะหล่ำปลี เดิมแล้วมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเมดิเตอเรเนียน และภายหลังได้แพร่กระจายทั่วไป โดยกะหล่ำปลีจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ กะหล่ำปลีธรรมดา (พันธุ์โกลเดนเอเคอร์, พันธุ์โคเปนเฮเกนมาร์เก็ต), กะหล่ำปลีแดง (ใบเป็นสีแดงทับทิม ขึ้นดีในที่อากาศหนาวเย็น), กะหล่ำปลีใบย่น (ขึ้นได้ในที่ที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ)
กะหล่ำปลีดิบ มีวิตามินซีสูง การนำไปปรุงอาหารควรใช้วิธีการนึ่ง จะช่วยคงคุณค่าของสารอาหารไว้ได้ดีที่สุด หรือจะรับประทานเป็นผักสลัดก็ได้ ทั้งนี้ไม่ควรนำไปนึ่ง ต้ม ผัดนานจนเกินไป
กะหล่ำปลีดิบควรรับประทานแต่พอเหมาะ เนื่องจากการรับประทานมากเกินไปอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องต่อมไทรอยด์ได้ และที่สำคัญควรระมัดระวังเรื่องยาฆ่าแมลงให้มาก เพราะกะหล่ำปลีนั้นติดอับดับ 1 ใน 5 ผักที่มีสารปนเปื้อนมากที่สุด การบริโภคเข้าไปในปริมาณมากอาจจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน มีอาการชักหรือหมดสติได้
วิธีการปลูกกะหล่ำปลี
การเตรียมดิน
การเตรียมดินสำหรับปลูกนั้นต้องเตรียมดินให้มีหน้าดินที่ดี มีความลึกไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต หลังจากพลิกตากดินครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นควรย่อยดินพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเก่า คลุกปุ๋ยกับดินให้ทั่วและทำให้ดินแตกละเอียดเป็นก้อนเล็กที่สุดสำหรับทำแปลงเพาะกล้า ส่วนแปลงปลูกอาจย่อยดินให้หยาบกว่าแปลงเพาะกล้าก็ได้ และหากดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับกรดในดิน
การเพาะกล้า
แปลงเพาะกล้า เตรียมดินโดยการขุดไถให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร กว้าง 1 เมตร ยาวตามความต้องการ ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน แล้วคลุกด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ย่อยดินให้ละเอียดพอสมควร รดน้ำให้ ชื้นแล้วทำการหว่านเมล็ดลงไป กระจายบางๆ เตรียมคลุมด้วย ฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ เมื่อกล้าออกใบจริงประมาณ 1-2 ใบ ก็ทำการถอนแยกต้นไปปลูก หรือสามารถหยอดเมล็ดลงถาดหลุม อายุกล้า 25-30 วันจึงย้ายปลูก
การปลูกและการดูแลกะหล่ำ
เวลาย้ายควรย้ายในช่วงเวลาบ่ายๆ ถึงเย็น ตอนย้ายควรให้ดินติดรากมาด้วยและต้องระวังไม่ให้รากขาด แล้วรีบนำลงปลูกจากนั้นกดดินรอบโคนให้แน่นทันทีก่อนรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อปลูกเสร็จแล้วควรทำร่มบังแดดให้ในวันรุ่งขึ้น หรือใช้ไม้บังรอบๆก็ได้ ควรปิดบังแดดไว้ประมาณ 3 – 4 วัน ค่อยเอาออก
การให้น้ำ
ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 1 – 2 ครั้ง ในระยะแรกให้รดน้ำด้วยการฉีดเป็นฝอยในช่วงเช้าและเย็นทุกวัน จนกระทั่งหัวเริ่มเข้าปลีให้ลดปริมาณการรดน้ำลงเพื่อป้องกันไม่ให้หัวปลีแตกและไม่ห่อหัว โดยปกติถ้าไม่รดน้ำมากจนเกินไปก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าหัวของปลีมากนัก
การให้ปุ๋ย
- เมื่อปลูกได้ประมาณ 15 วัน ใส่ปุ๋ยจำพวกไนโตรเจน เช่น (46-0-0) หรือแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ให้ต้นละ 1 ช้อนชา ปุ๋ยจำพวกนี้จะช่วยให้ใบงาม
- เมื่อปลูกได้ 30 วัน ทำการพรวนดินรอบ ๆ โคนต้น ใส่ปุ๋ยสูตร 12-8-8 ต้นละ 2 ช้อนชา หรือใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแทน ต้นละ 1 กำมือ กลบดิน แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยรดน้ำ
- ในการให้ปุ๋ยกะหล่ำปลีแต่ละครั้งควรผสมธาตุอาหารเสริมพวกโบรอน, สังกะสี อย่างเช่น ไฮเปอร์ พลัส ตรานกอมตะ เพราะมีความจำเป็นแก่พืชตระกูลกะหล่ำมาก ควรฉีดพ่นสารเคมี หรือสารชีวภัณฑ์ป้องกันศัตรูพืช ป้องกันหนอนเจาะกะหล่ำ และแมลงศัตรูอื่นๆ ทุกๆ 7 วันครั้ง
การเก็บเกี่ยว
ถ้าเป็นพันธุ์เบาเราจะเก็บเกี่ยวได้ตอนอายุประมาณ 50 – 60 วัน โดยใช้มีดที่คมตัดบริเวณส่วนโคน ซึ่งกะหล่ำปลีจะมีน้ำหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ต้น การเก็บในระยะที่เหมาะสมจะได้หัวที่สมบูรณ์ ถ้าเก็บขณะอ่อนเกินไปหัวจะไม่แน่น จะเสียขนาดและน้ำหนัก แต่ถ้าทิ้งไว้นานเกินไปหัวจะหลวม ทำให้คุณภาพของหัวกะหล่ำปลีลดลง เสียรสชาติ ไม่ได้ราคา ฉะนั้นเวลาเก็บเกี่ยวควรสังเกตหัวที่แน่นจะดีที่สุด
Cr: https://www.railungtopfarmshop.com