บทความเกษตร/เทคโนโลยี » การเลี้ยงแพะมือใหม่ อาชีพเสริมเพิ่มรายได้!!

การเลี้ยงแพะมือใหม่ อาชีพเสริมเพิ่มรายได้!!

14 พฤศจิกายน 2020
9298   0

การเลี้ยงแพะมือใหม่ อาชีพเสริมเพิ่มรายได้!!

การเลี้ยงแพะมือใหม่ อาชีพเสริมเพิ่มรายได้

สวัดดีครับ วันนี้จะมาพูดถึง “การเลี้ยงแพะมือใหม่ อาชีพเสริมเพิ่มรายได้”  แพะ  เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับเลี้ยงในพื้นที่ที่มีจำกัดไม่มาก หรือ ชนบทของประเทศที่กำลังพัฒนา เช่นประเทศไทย เพราะแพะเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว โตไว ซึ่งช่วงอายุการเป็นหนุ่มสาว และระยะตั้งท้องสั้น (150 วัน) ประมาณ 7 เดือนขึ้นไป ซึ่งสามารถให้ลูกครั้งละ 1-3 ตัวต่อครั้ง และให้ลูกได้ปีละ 2 ครอก ที่สำคัญใช้พื้นที่เลี้ยงต่อตัวน้อย มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะทนความร้อนจากแสงแดดได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น แพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินอาหารพวกพืชหลายชนิด วัสดุเหลือใช้จากเกษตรซึ่งเหลือเฟือในบ้านเรา จึงนำมาเลี้ยงได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงเพิ่มรายได้ และสามารถรีดนมแพะบริโภค จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารโปรตีนในเด็กระยะกำลังเจริญเติบโต เป็นต้น

สายพันธุ์แพะ

แพะพันธุ์พื้นเมือง (Native)

ที่มารูปภาพแพะพันธุ์พื้นเมือง (Native) :http://breeding.dld.go.th

  • แพะพันธุ์พื้นเมือง (Native)  แพะพันธุ์พื้นเมืองตัวจะมีขนาดเล็กมีสีหลากหลายใบหูเล็กตั้ง สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตกลูกปีละ 2 ครอก ซึ่งจะอยู่ในภาคใต้ มีสีหลากหลาย ส่วนใหญ่พบว่ามีสีดำ น้ำตาล หรือน้ำตาลสลับดำ แพะโตเต็มที่เพศเมียนมีความสูงตรงปุ่มหน้าขาประมาณ 48.5 ซม. มีน้ำหนักตัวประมาณ 12.8 – 16.4 กก. แพะพันธุ์พื้นเมืองไทยมีลักษณะคล้ายกับแพะพันธุ์กัตจัง (Kambing Katjang) พันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย
  • แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน (Anglonubian) เป็นแพะที่ให้ทั้งเนื้อและนม มีหลายสี ทั้งสีเดียวในตัวและสีด่างปัน สันจมูกเป็นเส้นโค้ง ใบหูยาวปรกลง นำเข้ามาเลี้ยงและขยายพันธุ์ในไทยกว่า 20 ปี
แพะพันธุ์บอร์

ที่มารูปภาพแพะพันธุ์บอร์(Boer) : https://vf-ceulemans.co

  • แพะพันธุ์บอร์ (Boer) เป็นแพะพันธุ์เนื้อขนาดใหญ่ จากประเทศแอฟริกาใต้ มีลำตัวสีขาว หัวและคอจะมีสีแดง ใบหูยาวปรก นำเข้ามาเมื่อปลายปี 2539
แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen)

ที่มารูปภาพแพะพันธุ์ซาเนน (Saanen) :

  • แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen) เป็นแพะพันธุ์นม สีขาวทั้งตัว หูใบเล็กตั้ง หน้าตรง
  • แพะพันธุ์หลาวซาน (Laoshan) เป็นแพะพันธุ์นม จากประเทศจีน มีลักษณะคล้ายพันธุ์ซาเนน
แพะพันธุ์อัลไพน์ (Alpine) 

ที่มารูปภาพแพะพันธุ์อัลไพน์ (Alpine) : ฟาอิซฟาร์มแพะ

  • แพะพันธุ์อัลไพน์ (Alpine) เป็นแพะพันธุ์นม สีน้ำตาลหรือดำ ใบหูเล็กตั้ง หน้าตรง มีแถบสีข้างแก้ม

แพะพันธุ์ทอกเก็นเบิร์ก (Toggenburg)

  • แพะพันธุ์ทอกเก็นเบิร์ก (Toggenburg) เป็นแพะพันธุ์นม ลำตัวสีช็อกโกแบต ใบหูตั้ง หน้าตรง มีแถบสีขาวข้างแก้ม

รูปแบบการเลี้ยงแพะ

การเลี้ยงแพะ โดยทั่วไปสามารถแบ่งรูปแบบการเลี้ยงได้ 4 แบบ ดังนี้

การเลี้ยงแพะแบบปล่อย

ที่มารูปภาพการเลี้ยงแพะแบบปล่อย : https://www.animals-farm.com/

1. การเลี้ยงแพะแบบปล่อย ให้แพะหากินเองตามธรรมชาติและผสมพันธุ์เอง มักเลี้ยงบริเวณที่มีหญ้า กลางวันจะต้อนให้อยู่ที่มีร่มเงามักไม่มีการสร้างคอกหรือโรงเรือน แต่จะปล่อยให้อาศัยตามร่มไม้

2. การเลี้ยงแพะแบบผูกล่าม เป็นการผูกล่ามแพะไว้กับที่ อาจเป็นหลักไม้ปักหรือเป็นตอไม้หรือต้นไม้ที่บริเวณโดยรอบมีหญ้าให้แพะกินเพียงพอ วันหนึ่งอาจมีการย้ายจุด เพื่อให้ได้กินหญ้าได้มากส่วนตอนเย็นจะย้ายมาขังคอก

การเลี้ยงแพะมือใหม่

การเลี้ยงแพะแบบกึ่งขังคอก

3. การเลี้ยงแพะแบบกึ่งขังคอก ลักษณะคล้ายการเลี้ยงแบบปล่อยแต่จะสร้างคอกหรือโรงเรือนสำหรับกักขังตอนกลางคืน โรงเรือนมีแต่หลังคาเท่านั้น ตอนเช้าต้อนให้แพะออกหากินตามทุ่งหรือที่มีหญ้า

การเลี้ยงแพะแบบขังคอก

ที่มารูปภาพการเลี้ยงแพะแบบปล่อย : https://www.nfc.or.th/

4. การเลี้ยงแพะแบบขังคอก เป็นการเลี้ยงในคอกหรือโรงเรือนตลอดเวลาโดยให้น้ำและอาหารในคอก แต่อาจมีการปล่อยแพะออกไปหากินข้างนอกบ้างเพื่อให้แพะได้ผ่อนคลาย พื้นคอกมักยกสูง และลาดเอียง หรือ อาจเป็นพื้นดินธรรมดา แต่มักรองพื้นด้วยแกลบ

ซึ่งสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตนเองที่เป็น การเลี้ยงแพะมือใหม่ เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยอาจจะพิจารณาจากวัตถุดิบอาหารจากแหล่งธรรมชาติก่อนและสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงเป็นหลัก แล้วค่อยทำการขยายต่อไปในอนาคต

รูปแบบโรงเรือนและการเลี้ยงแพะมือใหม่

การเลี้ยงแพะมือใหม่ อาชีพเสริมเพิ่มรายได้

ที่มารูปภาพรูปแบบโรงเรือนเลี้ยงแพะ : https://www.innnews.co.th/

สำหรับโรงเรือนนั้นควรตั้งในพื้นที่ดอน หรือสูงน้ำไม่ท่วม ควรมีหลังคาสำหรับกันแดดและกันฝน อากาศถ่ายเท สะอาด และมีรั้วล้อมรอบ คอกควรยกพื้นสูงจากพื้นดิน 1.50-1.60 เมตร ปูพื้นด้วยไม้ระแนงขนาด 1×23 นิ้วร่องห่างของไม้ ประมาณ 1 นิ้วเพื่อให้มูลแพะหรือขี้แพะนั้นลอดผ่านได้อย่างสะดวก ภายในโรงเรือนนั้นควรประกอบด้วย รางหญ้า รางอาหารข้น และภาชนะใส่น้ำ รวมทั้งแขวนก้อนเกลือแร่ ให้แพะแทะเลียกินอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ดังนี้

  • โรงเรือนพ่อพันธุ์แพะขนาด 3×5 เมตร เลี้ยงแพะพ่อพันธุ์ 1-2 ตัว
  • โรงเรือนแพะรวม ขนาด 6×12 เมตรแบ่งซอยเป็นคอกย่อยตามกลุ่มขนาดของแพะ ประกอบด้วย แพะตั้งท้องก่อนคลอด แพะ เลี้ยงลูกอ่อน คอกคลอด และคอกอนุบาลลูกแพะ คอกแพะรุ่น

อาหารและการให้อาหารสำหรับการเลี้ยงแพะมือใหม่

สูตรอาหารสำหรับเลี้ยงแพะ

แพะแรก – 3 วัน
  •  นมแม่วันละ 3 – 5 ครั้ง

ช่วงอายุ 4 วัน – 3 สัปดาห์

  • นมแพะ 0.5  – 1.5  ลิตรต่อตัว แบ่งให้วันละ 3ครั้ง
  • ไวตามิน และ แร่ธาตุ

ช่วงอายุ 4 – 6 สัปดาห์

  • นมสดหรือนมเทียมกรณีนทแม่ไม่เพียงพอ  0.5 – 1.5 ลิตรต่อตัว แบ่งให้วันละ 2 – 3 ครั้ง
  • อาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 22 เริ่มให้วันละน้อยก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ
  • หญ้าแห้งผสมถั่วหรือหญ้าสด ให้กินเต็มที่  พร้อมทั้ง ไวตามิน และ แร่ธาตุ

ช่วงอายุ 4 เดือน

  • อาหารหยาบ เช่น หญ้าสด หรือ ผักต้นกระถินที่หาได้ตามพื้นที่เพื่อลดต้นทุน ให้กินเต็มที่
  • ไวตามิน + แร่ธาตุผสม
  • อาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 18-20

แม่พันธุ์อุ้มท้อง และ พ่อพันธุ์

  • เช่น หญ้าสด หรือ ผักต้นกระถินที่หาได้ตามพื้นที่เพื่อลดต้นทุน ให้กินเต็มที่
  • ไวตามิน + แร่ธาตุผสม
  • อาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 16-18

การดูแลแม่พันธุ์ระยะให้นมลูก

  • อาหารหยาบ ให้กินเต็มที่
  • ไวตามิน + แร่ธาตุผสมน้ำ
  • อาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 16-18  ขึ้น
การให้น้ำ
สามารถใส่ภาชนะจัดให้สามารถดื่มกินได้ตลอดเวลาทั้งวัน และควรดุแลความสะอาดน้ำ เปลี่ยนถ่ายเมื่อสกปรกาหรือไม่สะอาด

สูตรอาหารสำหรับการเลี้ยงแพะ

สูตรอาหารสำหรับการเลี้ยงแพะทั่วไป

     จะประกอบด้วย ข้าวโพด 50% รำข้าว 35% กากถั่วเหลือง หรือกากถั่วลิสง 15% ในอาหารผสม 100 ก.ก. แล้วเติมเกลือประมาณ 2-3 ก.ก. กระดูกป่น(ถ้ามีหรือพอหาได้) 2 ก.ก. นอกจากนี้ จะต้องให้พืชอาหารสัตว์ หญ้าใบเขียว และหญ้าแห้งอีกตามสมควร

หมายเหตุ..แบบลดต้นทุนสำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงแพะ มือใหม่ นั้นสามารถหาสดสีเขียว หรือ ต้นกระถิน ซึ่งสามารถหาตัดได้ตามข้างถนน หรือ  พื้นที่รกร้างทั่วไป และ ค่อยดูความเหมาะสมและเพิ่มอาหาร ที่เป็นหัวอาหารเพิ่มเติมก็ได้เพื่อลดต้นทุนด้านอาหาร

อาหารสำหรับลูกแพะ

   การเจริญเติบโตในช่วงของการเป็นลูกแพะ เป็นระยะเวลาที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาร่างกายของแพะนม ดังนั้น ระยะดังกล่าวจึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาที่ดีของร่างกายและความสามารถในการให้น้ำนม ในช่วงเวลา 10 วัน หลังจากเกิด การที่ลูกแพะจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ภายใต้สิ่งแวดล้อมภายนอกเช่นเดียวกับที่อยู่ในท้องแม่ ขึ้นกับการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิของร่างกายที่ยังไม่ค่อยคงที่ ภูมิต้านทานโรคที่ยังไม่สมบูรณ์ และผิวหนังที่ยังบอบบาง เยื่อบุทางเดินอาหารยังอ่อนแอต่อการติดเชื้อ

   ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับอาหารที่ดี โดยในช่วงแรกนั้น นมน้ำเหลือง (colostrum) ซึ่งเป็นทั้งอาหารและยามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกแพะจะต้องได้รับ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน การให้นมแก่ลูกแพะในแต่ละครั้ง ควรให้ประมาณ 1/5 ของน้ำหนักตัว ในช่วงที่ลูกแพะมีอายุระหว่าง 10-40 วัน นมเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของลูกแพะ เมื่ออายุ 15 วัน แล้ว สามารถเสริมหญ้าแห้งอย่างดีที่ยังคงมีสีเขียวอยู่ ส่วนอาหารข้นนั้นสามารถเสริมให้กินได้เมื่ออายุ 20 วัน เมื่ออายุ 40-80 วัน ลูกแพะที่โตตามปกติ ควรให้กินนมและพืชอาหารสัตว์ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ในลูกแพะที่อ่อนแอถึงจะอายุ 80 วัน แล้วก็ยังจะต้องให้กินนมอยู่ ส่วนลูกแพะที่มีพัฒนาการที่ดีอาจหย่านมได้ในช่วงนี้ การป้อนนมสามารถทำได้โดยผู้เลี้ยง

   สำหรับเวลาที่ให้นมและอุณหภูมิของน้ำนม ควรจะต้องสม่ำเสมอในลูกแพะอายุ 10-40 วัน ปริมาณน้ำนมที่ควรได้รับประมาณ 600-1,200 ซีซี ต่อวัน แบ่งให้ 4-5 ครั้ง อายุ 40-60 วัน ปริมาณน้ำนมที่ควรได้รับประมาณ 400-500 ซีซี ต่อวัน แบ่งให้ 3-4 ครั้ง หลังจากลูกแพะอายุ 80 วัน ขึ้นไป สามารถลดปริมาณน้ำนม และจำนวนครั้งที่ให้ต่อวันลงได้ จนกระทั่งหย่านม อุณหภูมิของน้ำนมควรอยู่ระหว่าง 38 ํ-40 ํC ไม่ควรให้น้ำนมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 35 ํ C หรือสูงกว่า 42 ํ C สำหรับอุปกรณ์ในการให้นม จะต้องรักษาความสะอาด มิฉะนั้น จะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งจะทำอันตรายต่อลูกแพะ

โรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับการเลี้ยงแพะและแนวทางการป้องกันโรค

โรคพยาธิ
สำหรับผู้ที่เลี้ยงแพะไม่ว่าจะมือใหม่ หรือ มือเก่านั้น ควรจะต้องถ่ายพยาธิแพะทุกๆ 3 เดือน โดยใช้ยาถ่ายพยาธิที่จำหน่ายทั่วไป ตามร้านค้า ทั้งแบบกรอก (กำจัดพยาธิภายนอก) และแบบฉีด (กำจัดพยาธิภายในผิวหนัง)
โรคแท้งติดต่อซึ่งในแพะมักเกิดจากเชื้อ Brucella melitensis คนก็สามารถติดโรคนี้ได้จากการบริโภคน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม เช่น ครีม เนย ที่ได้จากแพะที่เป็นโรคและไม่ได้ผ่านขบวนการฆ่าเชื้อโรคก่อน
อาการ
   แพะเกิดการแท้งลูกหรือคลอดลูกที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงออกมา
และมักจะมีน้ำเมือกไหลมาจากช่องคลอดนานเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ เดินกะโผลกกะเผลก เต้านมอักเสบ น้ำหนักลด ขนแห้งและเป็นหมัน
การติดต่อ   โดยการสืบพันธุ์ การเลียอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวอื่น  การกินอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนอยู่ เชื้อนี้จะมีในนน้ำเมือกสัตว์ปัสสาวะ และซากลูกสัตว์ที่แท้งออกมา

โรคมงคล่อเทียม หรือโรคเมลิออยโดซีส
ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะพบโรคนี้ในประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนหรือเขตร้อนชื้นสามารถติดคนและสัตว์ได้
อาการ   ปวดหัว เบื่ออาหาร ปวดตามตัว และมีอาการทางระบบหายใจรวมทั้งมีไข้ ไอ บางครั้งมีเลือดปน เจ็บหน้าอก มีแผลหลุมในช่องจมูกมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและอาจตายได้หากไม่ได้รับการรักษา
การติดต่อ   จากการสัมผัสเชื้อโดยตรง การหายใจ หรือการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ และสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสเลือดหรือของเหลวจากร่างกาย ของคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ

กลุ่มตลาดรับซื้อแพะ

สำหรับช่วงที่ตลาดรับซื้อมีความต้องการแพะมาก จะอยู่ในช่วงเทศกาลต่างๆ ของศาสนาอิสลาม เช่น เดือนเมษายน พฤศจิกายน และธันวาคม โดยจากราคาขายปกติที่อยู่ประมาณ กิโลกรัมละ 55-60 บาท จะขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 80-120 บาท ทีเดียว และที่สำคัญผลผลิตออกมาเท่าไรก็ไม่เพียงพอ  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำตลาดคือ ต้องมีความร่วมมือทางการตลาดร่วมกันในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยง เพื่อให้สามารถตัดปัญหาพ่อค้าคนกลางออกไป และผู้เลี้ยงสามารถติดต่อกับผู้ซื้อได้โดยตรง ซึ่งจุดนี้จะทำให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น หรือ จะขายแพะเพื่อทำสายพันธุ์ให้กับผู้ที่สนในก็ได้

เรียบเรียง : sarakaset.com

ขอบคุณแหล่งที่มาบทความ :กองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ :