วีดีโอ » (วีดีโอ) รู้แล้วจะอึ้ง! ฟาร์ม ควายไทย เลี้ยงควายตัวละ 1,500,000 บาท

(วีดีโอ) รู้แล้วจะอึ้ง! ฟาร์ม ควายไทย เลี้ยงควายตัวละ 1,500,000 บาท

19 เมษายน 2023
2106   0

(วีดีโอ) รู้แล้วจะอึ้ง! ฟาร์ม ควายไทย เลี้ยงควายตัวละ 1,500,000 บาท

ควายไทย


คุณพรหมพิริยะ สอนศิริ อดีตเซลล์แมนจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ที่วันหนึ่งถึงจุดอิ่มตัว หันมาทำเกษตร เลี้ยงแพะ แกะ ม้า วัว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งทดลองเลี้ยงควายไทย แล้วก็พบสิ่งที่ใช่ ที่คนหามานาน เริ่มจากควาย 1-2 ตัว กลายเป็นฟาร์มควายไทย ที่มีควายถึง 300 ตัว และเลี้ยงในระบบโรงเรือน ผลผลิตที่ได้มีทั้งนมควาย พันธุ์ และปุ๋ย สร้างรายได้ระดับ 10 ล้านต่อปีเลยทีเดียว

ที่มา | รักบ้านเกิด rakbankerd 



+++ ความรู้เพิ่มเติม +++

ประวัติควายไทย

“ควาย” เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่มีความผูกพันธ์กับมนุษย์มาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จากหลักฐานภาพเขียนก่อนยุคประวัติศาสตร์ของมนุษย์โบราณ ปรากฏภาพควาย ปลา และสัตว์ป่าบางชนิด เขียนอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ โดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าควายเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์มาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ในประเทศไทยเชื่อว่า “ควาย” มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ใช้เป็นแรงงานเพื่อการเกษตร การขนส่งและการคมนาคม แม้แต่ในการสงครามยังใช้ควายเป็นพาหนะในการต่อสู้ข้าศึก เช่น การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจัน

เดิมควายเป็นสัตว์ป่า เหมือนสัตว์ป่าทั่วไป แต่โดยสัญชาติญาณเป็นสัตว์ที่สามารถฝึกฝน ทำให้เชื่องได้ มนุษย์จึงนำมาเลี้ยง ฝึกฝน จนเชื่องและนำมาใช้แรงงาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความรักความผูกพัน ระหว่างมนุษย์กับควายสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน คนไทยใช้แรงงานจากควาย มาแต่ยุคสร้างอาณาจักรเพราะพื้นที่ในการตั้งอาณาจักรอยู่ในเขตราบลุ่ม อาชีพที่เหมาะสม คือการเกษตร ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ จึงพูดได้ว่า “ควายคือชีวิตของคนไทย”

โลกเจริญก้าวหน้า มีวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สังคมเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสังคมเกษตรในประเทศไทยจากที่เคยใช้ควายไถนา คราดนา ลากเกวียน นวดข้าว เปลี่ยนเป็น เครื่องจักร เครื่องนวดข้าว บทบาทของควายภาคเกษตรหมดลงโดยสิ้นเชิง

ควายมีการเรียกแตกต่างกันไปแต่ละชาติแต่ละภาษา เช่น ภาษาจีนเรียกว่า “สุ่ยหนิว” (Sui Nui) ภาษาฟิลิปปินส์ เรียกว่า “คาราบาว” (Carabao) และภาษาไทยเรียกว่า “ควาย” (Khway) ภาษามาเลย์เรียกว่า “เกรเบา” (Krabao) เป็นต้น

พันธุ์ควายในโลกมี 2 ชนิด คือควายป่า และควายบ้าน ซึ่งสามารถแบ่งควายบ้านออกไปได้อีก 2 ประเภทดังนี้คือ- ควายปลัก (Swamp Buffalo) ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว มีควายปลักเป็นจำนวนมาก ใช้สำหรับทำงานในท้องนาเพื่อปลูกข้าว และลากเข็น เมื่อกระบือใช้งานไม่ไหวแล้ว ก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร

  • ควายปลัก มีความแข็งแรง มีกีบเท้าใหญ่ เคลื่อนไหวและเจริญเติบโตช้า ไม่ค่อยทนความร้อน จะแสดงอาการทุรนทุรายเมื่อไม่ได้ลงน้ำเป็นเวลานาน ชอบแช่ในโคลนตมเพื่อป้องกันแสงแดดและแมลงรบกวน ได้แก่ควายอินโดนีเซีย และกระบือไทย เป็นต้น ควายปลักของไทยมีลักษณะ ขนาด และสี คล้ายควายในพม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซี่งมีสี 2 สี คือ สีเทาเข้มเกือบดำและอีกสี คือสีเผือก-ผิวหนังสีชมพู
  • ควายน้ำหรือควายแม่น้ำ (River Buffalo) พบในอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ยุโรปตอนใต้ ส่วนใหญ่เป็นควายนมมากกว่า ชอบน้ำสะอาด ไม่ชอบลงโคลน ได้แก่ ควายอียิปต์ ควายคอเคเซียน และควายเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น ควายแม่น้ำเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณสมัยรัชการที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงอยู่ในส่วนราชการ ควายยังไม่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมากนัก

ในช่วงปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงริเริ่มโครงการธนาคารกระบือ (Buffalo Bank Project) ขึ้นที่ จ. ปราจีนบุรี และกรมปศุสัตว์รับผิดชอบในการดำเนินการ

ลักษณะทั่วไปของควาย

  • ขนาด : ควายจะโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย
  • รูปร่างหน้าตา : ควายส่วนใหญ่รูปร่างอ้วน เตี้ย พ่วงพี ลำตัวสั้น ท้องกางกลม แข้งขาสั้น เขากางยาว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
  • สี : ควายมีอยู่ 2 สี คือควายที่มีขนสีดำกับควายที่มีขนสีขาว โดยทั่วไปควายมีขนสำดำ ส่วนควายขนสีขาวหรือที่เรียกว่าควายเผือก (Albinoid Buffalo) ไม่ค่อยมีหน้าที่ในการเป็นสินค้า หรืออาหาร เพราะชาวนาไม่นิยมซื้อขาย และไม่นิยมฆ่าแกง แต่จะมีประโยชน์ด้านจิตใจมากกว่าควายสีดำ
  • เขา : ควายโดยทั่วไปหรือส่วนใหญ่มีเขายาวกางออกสองข้างศีรษะ ปลายเขาโค้งเข้าหากัน ลักษณะเขาควายส่วนล่างเป็นสี่เหลี่ยมรูปมนผิวขรุขระเป็นปล้อง ส่วนบนกลมเรียวปลายแหลมผิวลื่น ควายบางตัวมีเขาผิดปกติ คือเขาสั้นทู่หรือเขาหลูบห้อยลงสองข้างศีรษะ ขนาดเขาควายโดยปกติยาวประมาณ 60-120 เซนติเมตร
  • ฟัน : ควายมีฟันล่าง 20 ซี่ ส่วนฟันบนมีเฉพาะกราม 12 ซี่ ไม่มีฟันหน้า ด้วยเหตุนี้ชาวนาจึงเชื่อว่าควายไม่มีฟันบน




การเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์

ลูกควายจะกินนมแม่จนอายุประมาณ 1.5 ปี ควายจะเจริญเติบโตใช้แรงงานได้ระหว่างอายุ 2.5 – 3 ปี ช่วงที่ใช้งานได้เต็มที่ คือระหว่างอายุ 5-8 ปี ควายแต่ละตัวจะใช้งานได้จนอายุย่างเข้า 20 ปี อายุควายโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 25 ปี (เว้นกรณีพิเศษที่ควายบางตัวอาจมีอายุยืนผิดปกติ)

ควายตัวผู้สามารถเป็นพ่อพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี ส่วนควายตัวเมียสามารถเป็นแม่พันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป ควายจะตั้งท้องช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นฤดูที่อาหารอุดมสมบูรณ์ ควายจะอุ้มท้องประมาณ 10.5 เดือน ก่อนและหลังคลอด 2-3 อาทิตย์ เจ้าของไม่นิยมใช้งานหนัก ปกติควายจะคลอดลูก2 ตัว ในเวลา 3 ปี

ควายเป็นสัตว์ซึ่งตามภาษาสัตวศาสตร์ เรียกว่า Bos Bubalis มนุษย์รู้จักและเลี้ยงมาช้านานแล้ว โดยควายตามลักษณะของวิชาสัตวศาสตร์มีดังนี้ เป็นสัตว์ขนาดหนักโครงร่างใหญ่ ร่างกายหนา ผิวหนังมีสีดำ สีเผือก สีด่าง มีขนเล็กน้อย หัวยาวแคบ มีเขาบนหัว หางสั้นและมีขนที่ปลายหาง กระบือพันธุ์นมที่ดีจะมีเต้านมใหญ่ หัวนมยาว น้ำนมมีสีขาว ไขมันสูงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยใช้ไถนา ลากของ ลากเกวียน เนื้อเป็นอาหารหนังก็นำมาทำเครื่องหนัง อีกทั้งยังเป็นพาหนะอีกด้วย


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ