น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 เมล็ดน้อย อร่อยเหาะ | มหาอำนาจบ้านนา
“พี่สมเกียรติ” อดีตพ่อค้าขายผลไม้สู่เกษตรกรเต็มตัว จากเดิมที่ไม่ค่อยชื่นชอบผลไม้รูปร่างหน้าตาประหลาดอย่าง “น้อยหน่า” จนได้มีโอกาสมาลองชิม น้อยหน่าสายพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 จึงรู้สึกประทับใจในรสชาติความอร่อย และที่สำคัญยังปลูกง่าย ทนแล้ง ให้ผลผลิตเร็ว พี่สมเกียรติจึงได้ลองเปิดใจเลือกที่จะปลูกน้อยหน่า ทำให้น้อยหน่าคือผลไม้หลักที่ทำรายได้ให้พี่สมเกียรติอย่างทุกวันนี้
ติดตามชมรายการมหาอำนาจบ้านนา วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565 เวลา 16.05 – 16.30 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมย้อนหลังได้ทาง http://www.thaipbs.or.th/program/Lord…
#มหาอำนาจบ้านนา #น้อยหน่า #น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร2
——————————————————-
กด Subscribe ติดตามรายการดี ๆ ของช่อง ได้ที่ : http://thaip.bs/YSBht5j
การปลูกดูแล น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2
การปลูกน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 ใช้หลักการเดียวกับการปลูกน้อยหน่าทั่วไป เริ่มจากไถพรวนดินก่อน ปล่อยให้ดินแห้งสัก 1 สัปดาห์ จากนั้นไถเพื่อให้ดินร่วนซุย ตอนปลูกควรเว้นระยะห่างตามสภาพดิน หากปลูกในแหล่งดินดี ควรปลูกในระยะห่าง 4×4 เมตร หากปลูกในแหล่งดินไม่สู้ดีนัก ควรปลูกในระยะห่าง 3×3 เมตร ระยะห่างระหว่างแถวก็ใช้หลักเดียวกัน เพื่อให้ลำต้นกิ่งก้านของต้นน้อยหน่าได้เติบโตอย่างสมบูรณ์ตามธรรมชาติ
อย่างที่เกริ่นตอนแรก น้อยหน่าเป็นไม้ผลที่ทนแล้ง ปลูกได้ทุกฤดู แต่หากเป็นไปได้ขอแนะนำให้ปลูกต้นน้อยหน่าในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม เพื่อความสะดวกในการดูแลเรื่องน้ำ ทั้งนี้ เกษตรกรหลายรายนิยมปลูกต้นสนทะเล ไผ่รวก ยูคาลิปตัส ขนุน มะม่วง เป็นกำแพงบังลมแรงในสวนน้อยหน่า อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้พืชเหล่านั้น แผ่ร่มเงากว้างปกคลุมแปลงปลูกน้อยหน่า เพราะอาจแย่งอาหาร ทำให้ต้นน้อยหน่าไม่งอกงามได้
เนื่องจากน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 ติดผลง่าย ให้ผลดกมาก มักติดผลเป็นพวง หากไม่คอยตัดแต่งผลที่ไม่สมบูรณ์ออกไป จะทำให้มีผลดกมากจนกิ่งหักได้ ควรดูแลตัดแต่งกิ่งต้นน้อยหน่าเป็นระยะ เพื่อไม่ให้กิ่งก้านรกทึบ กิ่งก้านเบียดกันระหว่างต้น ทำให้รากแย่งอาหารกันเอง และทำให้เก็บเกี่ยวได้ลำบาก นับจากวันที่ต้นน้อยหน่าผลิดอกถึงวันเก็บเกี่ยวจะใช้ระยะเวลา ประมาณ 110-120 วัน ควรเก็บผลด้วยมือ ถ้าสูงก็ใช้ไม้ง่ามสอย หรือทำเป็นตะกร้อเก็บใส่เข่งที่กรุด้วยใบตอง แล้วคัดแยกผลใหญ่เล็กออกจากกัน
คุณสมเกียรติ เป็นชาวสวนผลไม้สามพรานที่ย้ายถิ่นฐานมาทำกินในพื้นที่อำเภอปากช่องตั้งแต่เมื่อ 36 ปีก่อน โดยปลูกไม้ผลนานาชนิด เช่น ฝรั่ง มะม่วง ฯลฯ ท้ายสุด ก็ตัดสินใจปลูกน้อยหน่า พันธุ์เพชรปากช่อง บนเนื้อที่ 50 ไร่ แต่หลังจากเจอน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 คุณสมเกียรติวางแผนโค่นต้นน้อยหน่าเพชรปากช่องทิ้ง เพื่อปลูกน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 เป็นหลัก เพราะปลูกดูแลง่าย ให้ผลผลิตดก รสชาติตรงกับความต้องการของตลาด ให้ผลตอบแทนดี คุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่าน้อยหน่าพันธุ์อื่นๆ
“ฝ้ายเขียวเกษตร 2 ติดผลง่ายสุดในบรรดาน้อยหน่าที่ผมเคยปลูกมา หลังปลูก 6 เดือน ก็เริ่มไว้ลูก จัดอยู่ในกลุ่มไม้ผลที่ให้ผลผลิตเร็ว คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะปลูกแค่ปีเดียวก็มีผลผลิตให้เก็บกินได้” คุณสมเกียรติ กล่าว
ฝ้ายเขียวเกษตร 2 มีลักษณะลำต้น ใบ ดอก และผลใหญ่กว่าน้อยหน่าฝ้ายที่เป็นพันธุ์แม่ แต่เล็กกว่าเพชรปากช่องซึ่งเป็นพันธุ์พ่อ ผิวค่อนข้างเรียบ เนื้อร่วนไม่ติดกัน แยกเป็นพู เหมือนน้อยหน่าฝ้าย ลักษณะเด่นคือ ติดผลดก ผลปานกลาง น้ำหนักผลเฉลี่ย 302.50 กรัม ต่อผล เนื้อมาก เมล็ดน้อย สุกช้า เฉลี่ย 4.50 วัน และอายุหลังการสุกยาวนาน ลักษณะพิเศษของน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 คือ ผลสุกช้า เปลือกไม่เละ ไม่แตกง่าย เหมาะสำหรับการขนส่ง
นอกจากนี้ ฝ้ายเขียวเกษตร 2 มีอายุหลังการสุกยาวนาน สามารถยืดอายุการขายได้นานเป็นสัปดาห์ ถือเป็นเสน่ห์สำคัญที่ผูกมัดใจแม่ค้าได้มากที่สุด เพราะช่วยให้แม่ค้ามีช่วงระยะเวลาการขายที่ยาวนานกว่าน้อยหน่าพันธุ์ทั่วไป ทุกวันนี้ คุณสมเกียรติปลูกน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 มากเท่าไร ก็มีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ลักษณะเด่นของ น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2
คุณสมเกียรติ แยกแยะลักษณะเด่นของน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 ที่แตกต่างจากน้อยหน่าทั่วไป ได้แก่
- มีเเกนไส้ในเป็นสามเหลี่ยม แกะออกได้ง่าย แตกต่างจากน้อยหน่าพันธุ์อื่นๆ ที่มีแกนไส้กลม
- ผลอ่อนมีกลิ่นเหม็นเขียว ส่วนผลสุกมีเปลือกสีเขียว ร่องลึก ผลสุกไม่มีสีเหลืองเหมือนกับน้อยหน่าพันธุ์อื่นๆ
ในอดีต เวลาซื้อน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายดั้งเดิมไปฝากใคร ต้องคัดเลือกผลสุกพอประมาณ ผู้รับก็ต้องรีบกินน้อยหน่าฝ้ายในทันที เพราะน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเนื้อสุกเร็วและเปลือกเละได้ง่าย แต่น้อยหน่าลูกผสม “ฝ้ายเขียวเกษตร 2” ถูกปรับปรุงพันธุ์ให้มีเปลือกเหนียวมาก ทนทานต่อการทำลายของแมลงวันทองได้สบาย ข้อดีอีกอย่างคือ เวลาบริโภคสามารถใช้ช้อนตักเนื้อน้อยหน่าเข้าปากได้ง่าย เพราะเปลือกไม่ทะลุเหมือนกับน้อยหน่าสายพันธุ์อื่น
“น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 ไม่มีปัญหาเรื่องแมลงวันทอง เพราะน้อยหน่าพันธุ์นี้มีเปลือกหนา ทำให้แมลงวันทองวางไข่ได้ยากมาก ยกเว้นกรณีที่เกษตรกรปล่อยน้อยหน่าผลแก่ไว้คาต้น อายุประมาณ 120 วัน หลังติดดอก เมื่อผลน้อยหน่าสะสมแป้งไว้มาก ทำให้ผลแตก ขั้วแตก เปิดโอกาสให้แมลงวันทองเข้าไปวางไข่ ทำให้ผลผลิตเสียหายในที่สุด” คุณสมเกียรติ กล่าว
การเก็บเกี่ยว
น้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 มีอายุการเก็บเกี่ยว 100-120 วัน นับจากวันที่ติดดอก เกษตรกรนิยมเก็บผลสุกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หากยังไม่สะดวก สามารถยืดอายุการเก็บเกี่ยวออกไปได้อีกเป็นสัปดาห์ แต่การเก็บผลแก่ในระยะดังกล่าว มักได้ผลผลิตคุณภาพไม่ดี สังเกตได้จากร่องผลมีรอยตื้น เจอปัญหาผิวแตกลายงา ขั้วมีอาการแตกร้าว เนื้อน้อยหน่าจะหนาขึ้น และมีเนื้อแป้งเยอะขึ้น ชิมแล้วจะรู้สึกว่ามีรสมันมากขึ้น มีรสอร่อยน้อยลง
หากต้องการบริโภคน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 ที่มีรสชาติอร่อย คุณสมเกียรติ แนะนำว่า ควรเลือกซื้อน้อยหน่าที่เก็บเกี่ยวในช่วงอายุ 100 วัน นับจากวันที่ติดดอก เรียกว่าเก็บผลผลิตได้ไวกว่าน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง ที่มักเก็บเกี่ยวในช่วงอายุ 120 วัน นับจากวันที่ติดดอก
คุณสมเกียรติ บอกว่า น้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 เมื่อเปรียบเทียบรสชาติกับน้อยหน่าสายพันธุ์อื่นๆ ถือว่า กินขาด แต่หากเปรียบเทียบขนาดผลแล้ว ถือว่ามีขนาดผลเล็กกว่าน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง เพราะน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผลเพียงแค่ 1.8 กิโลกรัม เท่านั้น ขณะที่น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องมีขนาดผลใหญ่ยักษ์กว่า โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผล ประมาณ 2.4 กิโลกรัม
“น้อยหน่าไซซ์ยักษ์เหมาะสำหรับทำโชว์ผลหรือประกวดผลผลิตเป็นหลัก เพราะโดยทั่วไปแม่ค้านิยมซื้อขายน้อยหน่าที่มีขนาดผลไม่ใหญ่มาก น้ำหนักเฉลี่ยผลละครึ่งกิโลกรัมเท่านั้น รสชาติความหวานของน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 สูงกว่า 10 บริกซ์ เรียกว่ารสหวานกว่าน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายดั้งเดิม แต่ระดับความหวานใกล้เคียงกับเพชรปากช่อง” คุณสมเกียรติ บอก
หากใครผ่านไปทางปากช่องก็สามารถแวะเข้าเยี่ยมชมสวนน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 ของคุณสมเกียรติได้ทุกวัน หากมีข้อสงสัยเรื่องการปลูกดูแล หรือสนใจอยากได้พันธุ์น้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 ไปลองปลูก ก็ติดต่อสอบถามจาก คุณสมเกียรติ บุตรบำรุง ได้ทางเบอร์โทร. (081) 494-0823
ที่มา https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_39272
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ