วิธีการกำจัดเพลี้ยไฟ โดยไม่ใช้สารเคมี ปลอดภัยไร้สารพิษ
วิธีการกำจัดเพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟเป็นแมลงจำพวกปากดูด ขนาดเล็กลำตัวยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก ตัวเต็มวัยมีสีดำ ตัวอ่อนสีเหลืองอ่อน ระยะเวลาตั้งแต่ตัวอ่อนถึงตัวเต็มวัยนานประมาณ 15 วัน ซึ่งเพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนโดยอาศัยอยู่ตามซอกใบ มักระบาดในระยะแตกยอดใหม่ เมื่อใบพืชโตขึ้นก็จะถูกทำลายปลายใบจะเหี่ยวขอบใบจะม้วนเข้าหากลางใบและอาศัยอยู่ในใบที่ม้วนนั้น พบระบาดในช่วงอากาศร้อนแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกันหรือสภาวะพืชที่ขาดน้ำ ถ้าระบาดมากๆทำให้ต้นพืชแห้งตายได้
ปัจจุบันการใช้เกษตรอินทรีย์ 100% เป็นไปได้ยาก แต่หากอดทนช่วงระยะแรก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ปี ก็จะสามารถเปลี่ยนเกษตรเคมีที่เคยทำไว้มาเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% โดยผลผลิตที่ได้จากพืชผักทุกชนิดไม่แพ้การใช้สารเคมี ขณะที่ข้อดีเกษตรอินทรีย์ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ผลิต ดังนั้นการใช้สารธรรมชาติกำจัดเพลี้ยไฟซึ่งสารธรรมชาติที่ผลิตขึ้นเองมาใช้กำจัดเพลี้ยไฟจึงเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกร โดยวิธีนี้สามารถกำจัดเพลี้ยไฟได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คุณคำนึง ชนะสิทธิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านชำปลาไหล หมู่12 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ผู้เชี่ยวชาญในการทำเกษตรอินทรีย์มานาน จึงนำเอาพืชสมุนไพรมาทำเป็นสารกำจัดเพลี้ยไฟในสวนผลไม้ ผ่านทาง สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.จันทบุรี ในรายการ Famer info ทางด่วนข้อมูลการเกษตร ช่วงคลีนิคเกษตร
สูตรสมุนไพรกำจัดเพลี้ยไฟ
- ยาสูบ 1 ขีด
- มะพร้าวขูด 2 ขีด
- น้ำสับปะรดสุก 1 ลิตร
- กาแฟผง 1 ขีด
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
ขั้นตอนการทำ
- นำยาสูบ 1 ขีด และมะพร้าวขูด 2 ขีด มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วเติมน้ำร้อนลงไป 1 ลิตร พอเริ่มเย็นก็ให้กรองและคั้นเอาเฉพาะน้ำจะได้สารสกัดยาสูบกะทิสด
- น้ำผลสับปะรดสุก 1 ลิตร ผสมกับน้ำสารกัดยาสูบกะทิสด
- เติมกาแฟผงอีก 1 ขีด คนให้เข้ากันก็จะได้สารกำจัดเพลี้ยไฟ
อัตราการใช้
ให้ผสมสารธรรมชาติกำจัดเพลี้ยไฟกับน้ำในอัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดช่วงที่ไม้ผลออกดอกหรือพลเพลี้ย แต่ถ้าพบเพลี้ยไฟระบาดอยู่อีก ก็ให้ฉีดพ่นซ้ำภายใน 7 วัน สารดังกล่าวจะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของเพลี้ยไฟ ตัวอ่อนและไข่ สารธรรมชาติกำจัดเพลี้ยไฟ ปลอดภัยต่อทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค อีกทั้งมีต้นทุนผลิตลิตรละประมาณ 100 บาท สามารถนำไปปรับใช้กับการกำจัดเพลี้ยไฟในสวนผลไม้อื่นๆ ได้
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
คำนึง ชนะสิทธิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านชำปลาไหล หมู่ 12 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ,นภาพร วันทะมาศ เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.จันทบุรี
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ