บทความเกษตร/เทคโนโลยี » ปลูกป่าหลังบ้าน สร้างสุข โดยอาจารย์เลี่ยม บุตรจันทา

ปลูกป่าหลังบ้าน สร้างสุข โดยอาจารย์เลี่ยม บุตรจันทา

11 มีนาคม 2022
2018   0

ปลูกป่าหลังบ้าน สร้างสุข โดยอาจารย์เลี่ยม บุตรจันทา

ปลูกป่าหลังบ้าน สร้างสุข

ปลูกป่าหลังบ้าน สร้างสุข





นายเลี่ยม บุตรจันทา หรือ พ่อเลี่ยม ปราชญ์ชาวบ้าน แห่งบ้านสวนออนซอน จังหวัด ฉะเชิงเทรา อดีตประกอบอาชีพทำไร่มันสำปะหลังปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละครั้งเงินที่ได้มาไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว จนเกิดหนี้สิ้นจำนวนมาก เกิดปัญหาภายในครอบครัว และปัญหา สุขภาพตามมา

    ปี 2539 ได้พบกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ท่านกล่าวว่า “เกษตรกรไม่รู้จักตัวเอง ถ้าอยากรู้จักตัวเองต้องลองทบทวนชีวิตของตัวเอง โดยใช้เครื่องมือง่ายๆ ในการเรียนรู้ตัวเอง เริ่มต้นจากการบันทึกข้อมูลรายรับ-รายจ่าย” เพราะคำพูดนี้จึงทำให้ผมลองบันทึกรายจ่ายภายในบ้าน เมื่อถึงสิ้นปีนำมาสรุปได้เป็น 2 หมวด คือ หมวดที่จำเป็น และหมวดที่ต้องการ ผลปรากฏว่า หมวดที่จำเป็นต้องจ่าย มีเพียง 25% และใน 25% นี้ สามารถปลูกเองได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลในการทำไร่ข้าวโพดด้วยเมื่อคำนวณสุดท้าย มีกำไรแค่ปีละ 650 บาท/ไร่/ปี ทำไร่ข้าวโพดทั้งหมด 50 ไร่ รวมได้กำไรเพียงแค่ 32,500 ต่อปี แต่มีรายจ่ายทุกวัน ทำให้เป็น หนี้สินเพิ่มขึ้นจนสุดเพดาน ทำมากแค่ไหนก็ไม่พอซื้อกิน เมื่อเป็นหนี้ ปัญหาที่ตามมาก็คือปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ แล้วจึงถามกับตัวเองว่า “ทำไมต้องปลูกสิ่งที่เราไม่กินเอาไปขายแล้วซื้อกิน ทำไมไม่ปลูกสิ่งที่ตัวเองต้องกิน”

สิ่งที่พบจากการทำไร่ข้าวโพด ทำให้ได้เรียนรู้ว่า

  1. ต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่มีใครชอบปลูกข้าวโพดกลางแดดร้อน ๆ ทั้งร้อนและเหนื่อย
  2. ต้องทำสิ่งที่ไม่รู้ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปลูกขายได้โลละกี่บาท เขาจะมารับซื้อกี่บาท จะได้กำไรหรือขาดทุน
  3. ต้องทำแล้วทำอีก เมื่อปลูกข้าวโพด เก็บผลผลิตไปแล้วต้องเริ่มปลูกใหม่ วนไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องกู้เงินมาใช้ ได้เงินมาใช้หนี้ แล้วกู้มาลงทุนใหม่อีก

ผลตอบแทนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวจึงมีแต่หนี้ ส่งผลกระทบต่อครอบครัว นำไปสู่การเข้าหาอบายมุข ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ การแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ทำงานได้เงินแค่ปีละครั้ง แต่ต้องใช้จ่าย ต้องซื้อกินทุกวัน เงินจึงไม่เพียงพอ ดังนั้นหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำไปจนตายก็ไม่มีเงินซื้อกิน แต่ถ้านำที่ดินมาทำเกษตรเพื่อชีวิต ทำพื้นฐานของชีวิตก็จะหลุดพ้นจากวงจรดังกล่าว

” ชีวิตจะมั่นคงถ้ามีปัจจัย 4 เราสามารถสร้างปัจจัย 4 เองได้ แค่ทำปัจจัย 4 ให้พร้อม ชีวิตก็จะมั่งคง เหมือนกับบ้านที่ต้องมีเสาเข็ม”

ดังนั้น ในปี 2540 จึงเลิกดื่มเหล้า เลิกอบายมุข และเริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตโดยการเลิกใช้สารเคมี ในพื้นที่ และหันมาปลูกสิ่งที่กินแทน พืชชนิดแรกที่ปลูกคือผักบุ้ง และเริ่มปลูกพืชผักอื่น ๆ ตามมา ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย มีเพียงจอบเสียบและบัวรดน้ำ แต่เมื่อทำไปได้ซักระยะหนึ่ง จึงเริ่มคิดว่า อายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่มีบำนาญ เราจะทำอย่างไร อายุมากแล้วทำงานไม่ไหว แต่เรายังต้องกินต้องใช้ จึงนึกถึงคำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ที่กล่าวถึงเรื่อง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จึงแบ่งชีวิตเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่กินได้ทำได้ ช่วงที่กินได้ทำได้น้อย และ ช่วงที่กินได้แต่ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงเริ่มศึกษาเรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

ป่า เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งมนุษย์และสัตว์เป็นแหล่งของปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค การปลูกไม้ 3 อย่าง คือ ไม้กินได้ ไม้ใช้สอย และไม้เศรษฐกิจ ทำให้เกิดประโยชน์ถึง 4 อย่าง คือ

  • พอกิน คือ การปลูกไม้ที่กินได้ รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้กินใบ ดอกผล หัว เหง้า พืชในกลุ่มนี้ เช่น แค มะรุม ทุเรียน สะตอ ผักหวาน ฝาง แห้ม กล้วย ฟักข้าว ไม้ผลต่าง ๆ
  • พอใช้ คือ การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่า ใช้สำหรับทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่น ทำฟืนเผาถ่าน ทำงานหัตถกรรม หรือทำน้ำยาซักล้าง ไม้ในกลุ่มนี้ เช่น มะคำดีควาย หวาย สะเดา ไผ่ หมีเหม็น ส่วนกระถินยักษ์ กระถินเทพา เป็นไม้โตเร็ว นิยมนำมาเผาถ่าน สร้างพลังงานทดแทน ซึ่งจะได้ผลผลิตทั้งหมด 3 อย่าง คือ ถ่านนำไปเป็นเชื้อเพลิง ใช้เป็นพลังงานทดแทนในครัวเรือน ขี้เถ้านำไปแปรรูปเป็นน้ำยาซักผ้า น้ำส้มควันไม้ใช้สำหรับไล่แมลง
  • พออยู่ คือ การปลูกต้นไม้ที่ใช้เนื้อไม้และไม้เชิงเศรษฐกิจให้เป็นป่า ไม้ในกลุ่มนี้เป็นไม้เนื้อแข็ง อายุยืน เพื่อใช้สร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน ต้นไม้กลุ่มนี้ เช่น ตะเคียนทอง ยางนา สัก พะยูง พะยอม โดยสวนออนซอนได้ใช้ไม้ในกลุ่มนี้เพื่อเป็นบำนาญชีวิตในตอนแก่ จึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องปลูกต้นไม้ที่ เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งมี 5 ชนิด คือ ตะเคียน ยางนา มะค่า มะฮอกกานี และพะยูง โดยปลูกให้ได้ชนิดละ 1,000 ต้น (อายุไม้ประมาณ 20 ปีขึ้นไป)
  • พอร่มเย็น คือ ประโยชน์ที่ได้จากการปลูกป่า 3 อย่าง จะช่วยให้ฟื้นฟูระบบนิเวศดินและ น้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวิภาพในพื้นที่ 

สวนออนซอนเริ่มปลูกไม้ป่าตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งไม้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา คนโบราณกล่าวว่า “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” เพราะดินกับต้นไม้ถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่ม ดินและน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าได้มากมายมหาศาล แม้ไม่มีเงินแต่มีปัจจัย 4 มีอาหารกินครบ 3 มื้อ จากการ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จึงทำให้ปัญหาเรื่องหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพค่อย ๆ หมดไป ปัจจุบันผู้คนมักจะแปลงคุณค่าให้เป็นมูลค่าและทำลายทรัยากรธรรมชาติมากมาย ทำให้ระบบนิเวศ และพื้นที่ป่าลดน้อยลงเรื่อยๆ ชีวิตที่เหลือผมจึงขอสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับแผ่นดิน โดยใช้วิธีที่ง่ายที่สุด และประหยัดที่สุด คือ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และตั้งใจว่าจะปลูกต้นไม้ให้ได้วันละ 3 ต้น เหมือนกับการกินข้าววันละ 3 มื้อ

 ที่มา :  คนรักษ์ป่า Channel

ผลิตภัณฑ์บ้านพ่อเลี่ยม https://youtu.be/s-k3sajO4qs 

พี่อุ้ย ลูกชายพ่อเลี่ยม ? https://youtu.be/Sw0gGuc_uq0 

หมอพงศ์ ลูกชายพ่อเลี่ยม ?https://youtu.be/nEDGtSBWjnI 


 



บทความอื่นๆที่น่าสนใจ