ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ (Holland Papaya) ผลไม้ชื่อไกล ฝีมือคนไทยพัฒนา
ปลูกมะละกอฮอลแลนด์
มะละกอฮอลแลนด์ ถือกำเนิดในบ้านเราเกือบ 20 ปีแล้ว โดยฝีมือการผสมสายพันธุ์ของคนไทยเอง คือผู้ใหญ่บ้าน สุธรรม จันทร์อ่อน เกษตรกรชาวจังหวัดนครปฐม ผู้ซึ่งได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2561 ซึ่งท่านได้สร้างผลงานด้านการเกษตรที่เป็นประโยชน์มากมาย รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้ที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้เราอาจถือได้ว่า ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ ขึ้นมาบนโลกอีกด้วย
เพราะผู้ใหญ่บ้าน สุธรรม เป็นคนนำเอาเมล็ดมะละกอพันธุ์เรดมาทาดอร์ ของประเทศเม็กซิโก มาผสมข้ามสายพันธุ์กับมะละกอแขกดำของไทย จนได้มะละกอพันธุ์ใหม่ ให้ชื่อว่า พันธุ์ปลักไม้ลาย ต่อมามีคนทักว่าชื่อพันธุ์ดูเชย จึงคิดเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นชื่อพันธุ์ฮอลแลนด์แทน เพราะเมล็ดพันธุ์มะละกอจากเม็กซิโก ที่ได้มานั้นมีเพื่อนซื้อผลมะละกอสุกมาฝากจากประเทศฮอลแลนด์ ประเทศที่ไม่มีต้นมะละกอปลูกเลยแม้แต่ต้นเดียว และได้กลายมาเป็นชื่อทางการค้า คือ มะละกอฮอลแลนด์ ที่ได้รับความนิยมทั้งจากผู้บริโภคและคนปลูก จนมีการขยายพื้นที่การปลูกออกไปทั่วประเทศ สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง
ลักษณะประจำพันธุ์ มะละกอฮอลแลนด์
มะละกอฮอลแลนด์ ลำต้นใหญ่สีเขียว ใบมี 11 แฉกใหญ่ กลางใบมีกระโดงใบ 1 ใบ ก้านใบมีสีเขียวตั้งขึ้น ดอกออก
เป็นช่อ ติดผลดก รูปทรงกระบอกคล้ายลูกฟักอ่อน อายุ เก็บเกี่ยว 8 เดือน น้ำหนักผลประมาณ 800-2,000 กรัม ต่อผล เนื้อสีแดงอมส้ม ไม่เละ เนื้อหนา 2.5-3.0 เซนติเมตร ความหวานวัดได้ 11-13 องศาบริกซ์ ผลผลิตต่อต้น 60-80กิโลกรัม จุดเด่นที่มองออกง่ายมากว่าผลมะละกอฮอลแลนด์เป็นอย่างไรนั้น ที่ปลายผลจะป้านคล้ายผลฟักอ่อน
ลักษณะเด่นของมะละกอฮอลลแลนด์ คือ ไม่มีกลิ่นยาง เนื้อหนา รสหวาน เปลือกหนา ทนทานต่อโรค ทนทานต่อการขนส่งให้ผลดก เนื้อแน่นแข็ง น้ำหนักดี รสชาติหวาน ทนทานต่อโรค มีตลาดรองรับ มะละกอพันธุ์นี้มีอายุเก็บเกี่ยว 8 เดือน น้ำหนักผลอยู่ที่ประมาณ 0.8 -1.2 กก.ต่อผล เนื้อมีสีแดงอมส้ม ไม่เละ เนื้อหนา 2.5-3.0 เซนติเมตร ผลผลิตต่อต้น 60 – 80 กิโลกรัม มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์นี้สามารถปลูกได้เกือบทุกสภาพพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่น้ำขัง ดินที่เหมาะสมควรเป็นดิน เหนียวปนทราย
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
สามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่น้ำขัง ดินที่เหมาะสมมีความเป็นกรดเป็นด่าง 5.5-5.0 หากปลูกแล้ว ให้
น้ำสม่ำเสมอ มะละกอจะให้ผลผลิตที่ดีมาก ปุ๋ยที่ใส่ให้ เริ่มต้นที่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก สำหรับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ใช้ สูตร 15-15-15 ระยะที่ติดผลอ่อน ก่อนการเก็บเกี่ยวใส่ สูตร 13-13-21 ใส่รอบๆ ต้น จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อต้น เมื่อปลูกได้ 7-8เดือน มะละกอฮอลแลนด์จะสุกแก่ เริ่มเก็บได้ ปริมาณผลผลิต หากดูแลปานกลาง จะได้ผลผลิตราว 5-8 ตัน ต่อไร่
วิธีการเพาะเมล็ด
- นำเมล็ดมะละกอแช่น้ำ 3 คืน โดยเปลี่ยนน้ำที่แช่บ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
- นำเมล็ดมะละกอมาเพาะในถุงดินที่เตรียมไว้โดยให้ใส่ 3-4 เมล็ด/ถุง
- รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 9-10 วัน เมล็ดก็จะงอก
- ทำการรดน้ำพอชุ่มวันละ 1 ครั้ง แล้วย้ายกล้าลงแปลงปลูก เมื่อต้นกล้ามีอายุได้
ประมาณ 1 เดือน
ขั้นตอนการเตรียมดินและปลูกมะละกอ
- ทำการเตรียมพื้นที่ โดยการไถ ทำการตากดินไว้ประมาณ 5 วัน
- ขุดหลุมลึกประมาณ 30ซม.ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 2.5X 2.5 เมตร 1 ไร่ จะปลูกได้ ราว 250 ต้น และรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์
- นำต้นมะละกอปลูกในหลุม กลบดินให้แน่น
การดูแลรักษา
- ใส่ปุ๋ย 1 เดือน/ครั้ง
- หลังจากที่ลงปลูกมะละกอไปได้ประมาณ 3 เดือน มะละกอทั้ง 3 ต้นที่อยู่ในหลุมเดียวกันจะเริ่มออกดอก ให้ทำการตัดต้นที่ เป็นตัวผู้และตัวเมียทิ้ง เหลือไว้แต่ “ต้นกะเทย” เนื่องจากต้นกะเทยจะให้ผลที่ดก และลูกมะละกอที่ออกมาจะยาวสวย เนื้อ หนากว่าต้นที่เป็นตัวเมียและตัวผู้ โดยการสังเกตต้นกะเทยนั้นก็ให้ทำการแหวกกลีบดอกดู ถ้าต้นไหนที่มีทั้งเกสรตัวเมียและตัวผู้อยู่ในดอกเดียวกัน
- หลังจากต้นมะละกออายุได้ 8 เดือนไปแล้ว ก็จะสามารถเก็บผลขายได้ทุกสัปดาห์ ไปจน 3 ปี ต้นมะละกอจึงจะหมดอายุ ไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ต้องตัดทิ้ง ปลูกใหม่
เกร็ดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมะละกอฮอลแลนด์
- มะละกอฮอลแลนด์จะให้ผลผลิต เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100 กก. ต่อ ต้น ตลอดอายุการเพาะปลูก
- การเก็บเกี่ยว โดยสังเกตดูที่ผลหากมีแต้มปรากฏอยู่บนผล 2-3 แต้มก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
- สภาพอากาศร้อนจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนดอกกระเทยให้กลายเป็นดอกตัวเมีย และถ้ามีอากาศร้อนมาก ๆ จะทำให้ มะละกอไม่ติดดอกได้ จึงควรให้มีความชื้นอย่างเพียงพอในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด
- มะละกอจะมีราคาแพงขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
การเลือกพื้นที่ปลูกมะละกอ มีความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเราควรปลูกในที่ดอน ดินที่เหมาะสม ควรเป็นดินเหนียวปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี ห้ามปลูกในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง เพราะอาจเกิดโรคได้ง่าย และจะต้องมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดทั้งปี เพราะมะละกอต้องการความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้การปลูกมะละกอ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องระวัง เช่น มะละกอจะติดผลเฉพาะต้นที่มีดอกสมบูรณ์เพศเท่านั้น ทั่วไปเรียกดอกกระเทย ถ้าต้นไหนมีแต่ดอกตัวผู้ หรือตัวเมีย เพศใดเพศหนึ่งต้องตัดทิ้งทันที เพราะจะไม่ติดผล สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจ ก่อนปลูกควรหาความรู้เพิ่มเติมโดยละเอียดด้วยนะครับ เพื่อจะได้ผลผลิตได้เต็มที่
ที่มา : http://papaya-trip.blogspot.com , ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน)
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ