บทความเกษตร/เทคโนโลยี » เกษตร “สองไร่สโลว์ไลฟ์”ฟาร์ม โดย อาจารย์คำพันธ์ แก้วมา

เกษตร “สองไร่สโลว์ไลฟ์”ฟาร์ม โดย อาจารย์คำพันธ์ แก้วมา

9 กุมภาพันธ์ 2022
2935   0

เกษตร “สองไร่สโลว์ไลฟ์”ฟาร์ม โดย อาจารย์คำพันธ์ แก้วมา

เกษตร “สองไร่สโลว์ไลฟ์”ฟาร์ม




คุณคำพันธ์ แก้วมา อดีตวิศวกรที่ผันตัว มาเป็นเกษตรกร โดยมีเป้าหมายอยากสร้างรายได้ วันละ 1,000 บาท ใน พื้นที่ 2 ไร่ จากการเริ่มต้น หาพื้นที่เพื่อทำเกษตรเพียงอย่างเดียวจนปัจจุบัน เป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่มีฟาร์มคาเฟ่ และ ฟาร์มสเตย์อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ด้วยแนวคิดเกษตร ทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช่ทำเกษตร ในพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อมีคนเมืองเป็นจำนวนมากที่หันหลังให้กับระบบทุนนิยมแล้วมาทำการเกษตรเพื่อพึ่งพาตนเองแต่จะมีกี่คนที่ประสบความสำเร็จ  เพราะการลงมือปฏิบัติจริงนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างอีกทั้งประสบกับปัญหาและอุปสรรคอื่น ๆ มากมาย  ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อลดความเสี่ยงปิดจุดอ่อนของปัญหาซึ่งหัวใจสำคัญใน การทำการเกษตรอินทรีย์ก็คือ ทุน เวลา ระยะทาง และการตลาด  ซึ่งระหว่างทำการเกษตรนั้น จะมีค่าใช้จ่ายหากไม่หารายได้กลับมาจะทำให้ เกษตรกรรู้สึกท้อ และล้มเลิกความตั้งใจซึ่งล่มเลิก มาหลายคนแล้ว คุณคำพันธ์ แก้วมา กล่าวว่า “ต้องเอาเกษตรวิถีชีวิต และเกษตรธุรกิจมาอยู่ ด้วยกันโดยต้องไม่มองว่าเกษตรธุรกิจคือความไม่พอเพียงเพราะความพอเพียงของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน” “สองไร่สโลว์ไลฟ์ฟาร์ม” คือการทำเกษตรภายใต้สโลแกน “ทำเกษตรแบบไทย ใช้ชีวิตในแบบญี่ปุ่น บริหารจัดการฟาร์มแบบฝรั่ง”

การทำเกษตรแบบ สองไร่สโลว์ไลฟ์ฟาร์ม

การทำธุรกิจนั้น  หลายคนส่วนใหญ์อาจนึกถึงกำไรก่อน  แต่ความเสี่ยงคือสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อมีความเสี่ยงต่ำ  จะทำให้ได้กำไรมากขึ้น  ทำสิ่งที่ตนทำได้ ใช้แรงงานของตนเองเป็นหลัก และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน  เมื่อได้พื้นที่ทำการเกษตรแล้วสิ่งแรกที่ต้องคิดคือการสร้าง “แบรนด์” ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้บริโภครู้ว่าสินค้าที่วางขายอยู่นั้น มาจากฟาร์มของเรา  คนส่วนใหญ่มักตั้งชื่อตัวเองเป็นชื่อแบรนด์  ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจดจำได้ยาก และ ไม่สื่อถึงอัตลัษณะที่โดดเด่นของฟาร์ม  ดังนั้นจึงควรตั้งชื่อฟาร์มตามอัตลักษณะที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเจ้าของฟาร์ม

เกษตรกรส่วนใหญ่มักให้ลูกหลานเรียนสูง ๆ ทำงานดี ๆ เป็นเจ้าคนนายคน เพื่อหลีกหนีจากการทำเกษตรทำให้ภาพลักษณ์ของอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ยากจนเหนื่อยยาก  เนื่องจากการทำเกษตรแบบเดิม ๆ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่มี การเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ มีต้นทุนสูง ทำให้ขาดทุนและเป็นหนี้สิน ในความเป็นจริงแล้วการทำเกษตร จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้โอกาส หาความรู้ใหม่ ๆอยู่เสมอ และเมื่อโอกาสมาถึง ต้องรีบคว้าไว้ไม่ให้หลุดมือไป

สองไร่สโลว์ไลฟ์ฟาร์มตั้งอยู่ที่บางไทรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ เริ่มจากการทำฟาร์ม และเมื่อมีผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ที่ฟาร์ม จึงเป็นโอกาสในการทำตลาดเป็นของตนเอง เพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้โดยสร้างเป็นคาเฟ่สำหรับขายและโชว์สินค้า และสร้างฟาร์มสเตย์ เป็นสถานที่ทำกิจกรรมเรียนรู้



นอกจากการทำคาเฟ่แล้วจะต้องดึงดูดผู้เข้ามาชมฟาร์มด้วยเรื่องราวต่าง ๆ  ของสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค้าของผลผลิต เช่น การเลี้ยงไก่ไข่โดยทั่วไปเกษตรกรที่ใช้หัวอาหารเลี้ยงไก่นั้น แทบจะไม่ได้กำไรเลยเพราะอาหารมีราคาแพง  ยิ่งเลี้ยง มากต้นทุนก็ยิ่งสูง ทำอย่างไรให้ไข่ไก่ของเราไม่เหมือนคนอื่น ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงจำนวนมาก แต่ต้องมีการสร้างเรื่องราวของแบรนด์ให้น่าสนใจ ทำให้อยากลอง อยากชิม และทำให้เราสามารถกำหนดราคาสินค้าเองได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางรายได้จากการขายสินค้าหรือผลผลิตในช่วงแรกอาจจะยังไม่มากนัก แต่ให้ตั้งเป้าหมายการสร้างรายได้ในแต่ละวัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มทีละน้อย หากไม่มีรายได้ จะทำให้ไม่มีกำลังใจในการทำเกษตร ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ที่ทำเกษตรและไม่ประสบผลสำเร็จ ก็ล้มเลิกไปเป็นจำนวนมาก

ช่องทางการสร้างรายได้

การสร้างรายได้ไม่ได้มีแต่เฉพาะขายผลผลิตจากการปลูกพืชผักเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่สามารถสร้างรายได้จากส่วนอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยง สองไร่สโลว์ไลฟ์ฟาร์มมีการสร้างรายได้จาก 3 ช่องทางดวยกันคือ

1. รายได้จากฟาร์มคาเฟ่ (ออร์แกนิกช้อป)

เมื่อทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้วนำมาโชว์ภายในคาเฟ่ เป็นการปิดช่องโหว์ทางการตลาดเพราะมีตลาดเป็นของตนเอง การแปรรูปผลผลิตที่ดีที่สุดคือผลิตภัณฑ์แปรรูปเกี่ยวกับอาหารสามารถตั้งราคาเองได้ไม่มีผลผลิตค้างสต๊อก การทำเกษตรยังเป็นอาชีพที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงมาก เช่นที่ฟาร์มปลูกผักหวาน เมื่อขายดีขึ้น จะเริ่มมีคนปลูกตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดก็จะกระจายกันไป แต่จะทำอย่างไรให้คนสนใจซื้อเฉพาะที่ฟาร์มของเรา ดังนั้น คาเฟ่หรือหน้าร้านจึงมีความสำคัญมาก และเมื่อลูกค้าติดใจก็จะกลับมาซื้อผักของเราอีก รายได้ส่วนนี้จะได้รับทุกวัน การทำคาเฟ่เป็นธุรกิจที่ไม่สามารถควบคุมจำนวนลูกค้าได้จากสภาพดินฟ้าอากาศ แต่ที่ฟาร์มยังอยู่ได้เพราะเป็นการทำเกษตรแบบคาเฟ่

2. รายได้จากฟาร์มสเตย์   

ฟาร์มสเตย์แตกต่างจากโฮมสเตย์ตรงจุดขาย โฮมสเตย์มีจุดขายคือวิถีชีวิตในชุมชน คนที่ไปพักต้องการที่จะ
เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้น แต่ฟาร์มสเตย์จะขายกิจกรรมภายในฟาร์ม ดังนั้นจึงต้องมีกิจกรรมในฟาร์ม เช่น การดำนา ปลูกข้าว ขี่ควาย เป็นต้น คนที่เข้ามาพักส่วนใหญ่สนใจการทำกิจกรรมภายในฟาร์มมากกว่าการมานอนพักผ่อน ต้องมีการแบ่งพื้นที่ระหว่างฟาร์มสเตย์กับคาเฟ่ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้รบกวนผู้เข้าพัก ซึ่งเหมาะกับฟาร์มสเตย์ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ส่วนฟาร์มที่อยู่ไกล ๆ สามารถทำฟาร์มสเตย์ร่วมกับเคเฟ่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ที่เดินทางไปมักจะไปพักผ่อนอยู่แล้ว การทำฟาร์ม ทั้ง 2 รูปแบบอยู่ร่วมกันจะค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องดูแลแขกที่คาเฟ่ตอนเช้า และดูแลแขกที่เข้าพักตอนค่ำ ฟาร์มบางแห่งจึงเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ลักษณะของฟาร์มสเตย์ตามกฎหมายนั้นไม่ควรมีห้องพักเกิน 5 ห้อง หากเกินจำนวนที่ กำหนดจะต้องจดทะเบียนเป็นโรงแรมหรือรีสอร์ทซึ่งต้องผ่านการตรวจจากสาธารณะสุข ระบบการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก เราจึงสร้างเพียง 5 ห้อง เป็นธุรกิจฟาร์มสเตย์ 4 ที่สามารถควบคุมได้ด้วยการจองที่พักล่วงหน้าและมีค่ามัดจำ

3. รายได้จากการเปิดเป็นศูนย์ฝึกอบรม

เมื่อประสบความสำเร็จจากการทำฟาร์ม จะมีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ จึงเปิดให้ผู้ที่สนใจ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษาเป็นการสร้างรายได้ทั้งจากการเป็นวิทยากร เป็นอีก ช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับ ผู้ ที่ มีความสามารถด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้อื่น

จะเห็นได้ว่าการทำเกษตร แม้จะมีพื้นที่ไม่มากนักแต่ก็สามารถทำอะไรได้มากมายให้เกิดรายได้ ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จต้องผ่านการเรียนรู้การสั่งสมประสบการณ์ การพัฒนาแนวคิดและประยุกต์ใช้สิ่งต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์และสร้างโอกาสให้กับตนเอง



เครดิตบทความและรูปภาพโดย :  สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ริมถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช นวนคร จังหวัดปทุมธานี 12120  www. wisdomking.or.th โทร:  0-2529-2212 or 0-2529-2213 และ  FB : สองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์ม


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ