ปลูกผักคะน้าอินทรีย์ อย่างง่ายๆไว้รับประทานปลอดสารพิษ
ปลูกผักคะน้าอินทรีย์
คะน้า เป็นพืชผัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica alboglabra อยู่ในตระกูล Cruciferae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียและมีปลูกกันมากในเอเชียวตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซียและประเทศไทย ซึ่งชาวจีนเรียกคะน้าว่า ไก่หลันไช่เป็นผักที่นิยมปลูกและบริโภคกันมากในประเทศไทย
คะน้าที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ด้วยกันคือ
- พันธุ์ใบกลม มีลักษณะใบกว้างใหญ่ ปล้องสั้น ปลายใบมนและผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ได้แก่ พันธุ์ฝางเบอร์ 1
- พันธุ์ใบแหลม เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะใบแคบกว่าพันธุ์ใบกลม ปลายใบแหลม ข้อห่าง ผิวใบเรียบ ได้แก่ พันธุ์ P.L.20
- พันธุ์ยอดหรือก้าน มีลักษณะใบเหมือนกับคะน้าใบแหลม แต่จำนวนใบต่อต้นมีน้อยกว่า ปล้องยาวกว่า ได้แก่ พันธุ์แม่โจ้
วิธีการเพาะต้นกล้าผักคะน้าอินทรีย์
สำหรับการเพาะต้นกล้าผักคะน้านั้นมีหลายวิธี แต่เท่าที่นิยมกันหลักๆแล้วมี 2 วิธี คือ
- หว่านเมล็ดในแปลงหรือกระถาง
1. การเตรียมแปลงเพาะ แปลงเพาะกล้าควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสม
2. การเตรียมดินบนแปลงเพาะกล้า ควรขุดไถพรวนดินอย่างดี ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ย่อยน้ำดิน ให้ละเอียด แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหมาก คลุกเคล้าให้เข้ากับดินให้ทั่ว
3. การเพาะ หว่านเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง กลบเมล็ดด้วยดินหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วให้หนำประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ
4. การดูแลต้นกล้า ต้นกล้าจะงอกภายใน 7 วัน ควรดูแลต้นกล้า ถอนต้นที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง หรือเบียดกันแน่นทิ้งไป ผสมสารละลายสตาร์ทเตอร์โวลูชั่นในน้ำแล้วนำไปรด เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ ดูแลป้องกันโรคแมลงที่เกิดขึ้น เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 25 – 30 วัน จึงทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกต่อไป - เพาะเมล็ดในกระบะเพาะ ให้โตสักระยะหนึ่งประมาณ 15-20 วันแล้วย้ายกล้าลงแปลงที่จัดเตรียมไว้
ปลูกผักคะน้าอินทรีย์ นิยมปลูก ๒ แบบ
- แบบหว่านกระจายทั่วแปลง เหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดใหญ่ ทำเป็นการค้า
- แบบแถวเดียว เหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดเล็กหรือผักสวนครัว เตรียมดินโดยการใช้แรงงานคนให้น้ำโดยใช้บัวรดน้ำหรือสายยาง ระยะปลูกคะน้าควรให้มีระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 20 x 20 เซนติเมตร
การเตรียมแปลงปลูก มีวิธีการดังนี้
- ขุดดินให้ลึกประมาณ ๑๕ – ๒๐ เซนติเมตร แล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ ๗ – ๑๐ วัน
- นำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วนำใส่ คลุกเคล้าให้เข้ากับดินเป็นการปรับปรุงสภาพทางกายภาพและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- พรวนย่อยหน้าดินให้มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะการปลูกแบบหว่านลงในแปลง เพื่อไม่ให้เมล็ดตกลงไปในดิน เพราะจะไม่งอก หรืองอกยากมาก และ ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม
การปลูกคะน้าแบบนิยมหว่านเมล็ดลงบนแปลงปลูกโดยตรงมากกว่าย้ายกล้า มีขั้นตอนดังนี้
- หว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งผิวแปลงโดยให้เมล็ดห่างกันประมาณ 2-3 เซนติเมตร
- ใช้ดินผสมหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วหว่านกลบเมล็ดให้หนาประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร เพื่อเก็บรักษาความชื้นและป้องกันเมล็ดถูกน้ำกระแทกกระจาย คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ รดน้ำให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ ต้นกล้าจะงอกภายใน 7 วัน
- หลังจากต้นคะน้างอกแล้วประมาณ 20 วัน หรือต้นสูงประมาณ 10เซนติเมตร ให้เริ่มถอนแยก โดยเลือกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก ทิ้งระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้เมื่อเด็ดรากออกแล้วส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้
- เมื่อคะน้ามีอายุประมาณ 30 วัน ให้ถอนแยกครั้งที่ 2 ให้เหลือระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตรต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้เมื่อเด็ดรากออก แล้วส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้ ในการถอนแยกคะน้าแต่ละครั้งควรกำจัดวัชพืชไปด้วย
การให้น้ำผักคะน้า
คะน้าต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ เนื่องจากมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรปลูกในแหล่งที่มีน้ำอย่างเพียงพอ การให้น้ำให้ใช้ฝักบัวฝอยรดให้ทั่วและให้ชุ่ม ในเวลาเช้าและเย็น
การใส่ปุ๋ยผักคะน้าอินทรีย์
คะน้าต้องการปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง อาจใส่ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่ทำจากพืชสดหรือพืชสีเขียว ในอัตราประมาณ 100 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยคอกที่ใช้ควรพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพผสมสารสมุนไพรไล่แมลงทางใบ อาทิตย์ละครั้ง พร้อมการราดน้ำหมักจุลินทรีย์บนพื้นแปลงปลูกคะน้า
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
อายุการเก็บเกี่ยวของคะน้าอยู่ที่ประมาณ 45 – 55 วันหลังปลูก คะน้าที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือ คะน้าที่มีอายุ 45 วัน แต่คะน้าที่มีอายุ 50 – 55 วัน เป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ำหนักมากกว่า
วิธีการเก็บเกี่ยวคะน้า ให้ทำได้ดังนี้
- ใช้มีดคมๆ ตัดต้นคะน้าให้ชิดโคนต้น
- ตัดคะน้าให้เป็นหน้ากระดานไปตลอดทั้งแปลง
การเก็บเกี่ยวคะน้าให้ได้คุณภาพดี รสชาติดี และสะอาด ควรปฏิบัติดังนี้
เก็บในเวลาเช้าดีกว่าเวลาบ่าย ใช้มีดเล็กๆ ตัด อย่าเก็บหรือเด็ดด้วยมือ อย่าปล่อยให้ผักมีอายุมากหรือแก่เกินไป หลังเก็บเกี่ยวเสร็จควรนำผักเข้าที่ร่ม วางในที่โปร่งและอากาศเย็น ภาชนะที่บรรจุผักควรสะอาด
Cr: gurukaset.com, cddata.cdd.go.th
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ