มะระขี้นก ผักสวนครัวริมรั้วที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี ลักษณะลำต้น เหลี่ยมมีขนปกคลุม เป็นไม้เลื้อยพันต้นไม้อื่น มีมือเกาะ ใบเดี่ยว ออกสลับกันคล้ายใบแตงโมแต่เล็กกว่า มีสีเขียวทั้งใบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก เว้าลึก ดอกเดี่ยวตามง่ามใบ สีเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ เกสรมีสีเหลืองแก่ กลีบดอกบาง ผลเดี่ยว รูปกระสวย ผิวขรุขระ มีปุ่มยื่นออก ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลืองถึงส้ม ผลของมะระขี้นกจะมีรูปร่างคล้ายกระสวย ผิวเปลือกขรุขระ โดยผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะออกสีเหลือง อมแดง ปลายของผลจะแตกเป็น 3 แฉก ที่ชื่อว่ามะระขี้นก เพราะว่านก ชอบจิกกินผลและเมล็ด แล้วถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ จึงเป็นที่มาของชื่อนี้
สรรพคุณ มะระขี้นก
มะระขี้นกมีฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และวิตามินหลายชนิด รวมทั้งไนอะซิน ที่ดีต่อร่างกายและช่วยรักษาอาการป่วยต่างๆ ได้แก่
- รากและเถา ใช้แก้ร้อน แก้พิษ ถ่ายบิดเป็นเลือด รักษาฝีบวมอักเสบ และปวดฟัน
- ใบ ใช้รักษาโรคกระเพาะ บิด บรรเทาแผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธิ
- ดอก สามารถช่วยรักษาโรคบิดได้
- เมล็ด ใช้เป็นยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง
- ผลสด แก้พิษร้อน และอาการร้อนใน ตาบวมแดง บรรเทาแผลบวมเป็นหนองและฝีอักเสบ
- ผลแห้ง ช่วยรักษาอาการของโรคหิดได้
วิธีการนำมะระขี้นกมารับประทาน
ผลสด ให้ตำ รับประทานครั้งละ 6-15 กรัม หรือผิงไฟให้แห้งบดเป็นผงรับประทาน ใช้ภายนอก ตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอก เมล็ดแห้ง 3 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใบสด 30-60 กรัม ต้มน้ำดื่มหรือใบแห้งบดเป็นผงรับประทาน ใช้ภายนอกต้มเอาน้ำชะล้างพอกหรือคั้นเอาน้ำทา รากสด 30-60 กรัม ต้มน้ำดื่ม
ส่วนเมนูอาหารอื่นๆ ก็สามารถใช้ผลของมะระขี้นกเป็นส่วนประกอบได้ เช่น เมนูมะระขี้นกผัดไข่, แกงเผ็ดมะระขี้นก, ยอดมะระขี้นกลวกกะทิกุ้งสด, แกงมะระขี้นกยัดไส้, มะระขี้นกผัดไข่ใส่ใบโหระพา เป็นต้น นอกจากอิ่มอร่อยแล้ว ยังได้จานอร่อยที่มีโภชนาการสูง เพียบพร้อมด้วยสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อ
ข้อระวังสำหรับการกินมะระขี้นก
แม้มะระขี้นกจะมีประโยชน์สารพัด แต่ก็มีข้อควรระวังในบางกลุ่มที่ไม่ควรกินมะระขี้นกในปริมาณที่มากเกินไป เช่น สตรีมีครรภ์และเด็กที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากมะระขี้นกมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำให้ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่แล้วได้รับอันตรายได้
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือต้องการกินเพื่อรักษาโรค ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ ให้เหมาะสมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, การพักผ่อนที่เพียงพอ และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับคำแนะนำที่ถูกวิธี ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดให้บริการประชาชนในการสอบถามเรื่องการใช้ “มะระขี้นก” เป็นยารักษาโรค สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-2149-5678