บทความเกษตร/เทคโนโลยี » การปลูกสละอินโดแซมในสวนยางพารา เพิ่มรายได้ในช่วงยางพารา

การปลูกสละอินโดแซมในสวนยางพารา เพิ่มรายได้ในช่วงยางพารา

19 กันยายน 2021
2572   0

การปลูกสละอินโดแซมในสวนยางพารา เพิ่มรายได้ในช่วงยางพารา

การปลูกสละอินโดแซมในสวนยางพารา

สละอินโด เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงาของสวนยางพารา มีลักษณะใบยาวใบลู่ลงมากกว่าระกำ ทางใบมีหนามแข็งและแหลมยาว มีผล 2-4 กระปุก/ทะลายมีหนามอ่อนนิ่ม และมีรสชาติหวานฉ่ำเข้มข้นกว่าระกำ เนื้อแน่น เมล็ดเล็กมีกลีบ 2-3 กลีบ/ผลปัจจุบันปลูกกันมากในภาคใต้ การปลูกสละอินโดในสวนยางพาราไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของยางพารา ผลผลิตจากการปลูกในสวนยางพาราอยู่ในเกณฑ์ ที่ควรปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ในสวนยาง สละอินโดสามารถให้ผลเฉลี่ย 10-15 กิโลกรัม/ต้น/ปี ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาผลผลิตประมาณ 70-80 บาท/กิโลกรัม โดยทั่วไป เป็นพืชที่ปลูกง่ายและตายยาก สละอินโดจะให้ผลผลิตภายใน 2-3 ปี เมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อม ที่เหมาะสม ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในการปลูกเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะราคายางพาราตกต่ำ

สภาพแวดล้อม



สละอินโดเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งที่มีฝนตกชุก ดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดีต้องการความเข้มของแสง เปรียบเทียบได้กับแสงแดดช่วงเวลา 07.00 น. หรือ 18.00 น. เพื่อการสังเคราะห์แสง ทั้งนี้เพราะในสภาพดังกล่าวจะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ผ่านเข้า-ออกสะดวก มากกว่าปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง จึงเหมาะสมที่จะปลูกในสวนยางพาราภาคตะวันออกและภาคใต้ นอกจากนั้นการปลูกสละควรปลูกใกล้แหล่งน้ำ เพราะต้องใช้น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของรสชาติ

การปลูก

การปลูกสละอินโดแซมในสวนยางพารา

ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.kasetvoice.com/

เตรียมหลุมปลูกขนาด กว้าง × ยาว × ลึก ประมาณ 50 × 50× 50 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและขนาดของต้นกล้า) ขุดแยกออกมาเป็นดินบนและดินล่าง นำดินล่างผสมหินฟอสเฟต อัตรา 1 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ดินบนลงไปใน

หลุม (ตัดรากที่คดงอที่ก้นถุงออก) กรีดถุงพลาสติกที่ก้นและด้านข้างแล้วปลูกต้นกล้ากลบดินให้แน่นพอสมควรต้องระวังไม่ให้ดินห่อหุ้มต้นกล้ากระทบกระเทือน จะทำให้ระบบรากเสียหายได้

ะยะปลูกและอัตราปลูกต่อพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ไร่

  • ปลูกแถวเดียวกึ่งกลางระหว่างแถวยางพารา โดยปลูกสลับตำแหน่งกับต้นยางพารา และระยะห่างกันของต้นสละขึ้นอยู่กับระยะปลูกยางพารา (ควรปลูกเมื่อต้นยางพารามีอายุ 3 – 4 ปี)
  • ระยะปลูกยางพารา 3 × 7 เมตรปลูกสละห่างกัน 2 เมตรจะปลูกได้ประมาณ 80 ต้น/พื้นที่ปลูกยาง 1 ไร่

การให้ปุ๋ย

ใส่ปุ๋ยคอก เช่น ปุ๋ยมูลไก่ มูลโค หรือมูลค้างคาว ก่อนให้ผลผลิตในอัตรา 2 – 3 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง จำนวน 3 ครั้ง/ปีจนกระทั้งต้นใหญ่ให้ผลผลิตแล้วใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 10 – 15 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง จำนวน 3 ครั้ง/ปี เช่นกัน

สำหรับสละอินโดที่มีการให้น้ำซึ่งให้ผลผลิตตลอดปี จำเป็นต้องเสริมด้วยปุ๋ยเคมีทางดิน เช่น สูตร 15 – 15 – 15 หรือ 16 – 16 – 16 หรือ 13 – 13 – 21 อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี นอกจากนั้นยังสามารถใช้ปุ๋ยชีวภาพต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม

การให้น้ำ

ควรให้น้ำกับสละเพราะเป็นพืชที่ต้องการใช้น้ำมากทุกช่วงการเจริญเติบโต หากขาดน้ำโดยเฉพาะในช่วงการออกดอกติดผล จะทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลง ด้วยการให้น้ำมีหลายวิธี เช่น ฉีดรดด้วยสายยาง น้ำพุ่งหัวเหวี่ยง หัวเหวี่ยงเล็กฉีดฝอย

และน้ำหยด ซึ่งจะเพิ่มต้นทุน 3,000 – 13,000 บาท/ไร่ แต่ในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่าเพราะผลผลิตสละราคาสูง รสชาติดี และเก็บผลผลิตได้ตลอดปี

การตัดแต่งทางใบและการควบคุมจำนวนต้น

การตัดแต่งทางใบสละอินโดฯ ที่ให้ผลผลิตแล้ว จะมีทางใบ 15-20ทางใบ ไม่ควรตัดแต่งทางใบที่รองรับทะลายผล จนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะไม่ตัดแต่งทางใบมากนัก นอกจากทางใบที่เหลืองแก่หมดสภาพแล้วเท่านั้น หากทางใบโน้มกีดขวางการทำงาน ก็ต้องใช้เชือกไนล่อนผูกรวบไว้   ส่วนทางใบที่ตัดแล้วจะนำไปปูคลุมรอบโคนต้น โดยคว่ำด้านหนามลงดินเพื่อเป็นปุ๋ยหมักต่อไป

การตัดแต่งช่อพวง

เมื่อต้นสละอินโดอายุครบ 2 ปี ให้เริ่มผสมเกสรได้ เมื่อติดลูกแล้วมักมีปริมาณผลหนาแน่นหากไม่ตัดแต่งพวงสละอินโดอาจทำให้ก้านขาดได้ ต้นสละอินโดจึงมักสลัดลูกทิ้งตามธรรมชาติบางครั้งต้นสละอินโดจะสลัดผลทิ้งเกือบครึ่งพวง เพื่อลดความสูญเสียดังกล่าวจะต้องตัดแต่งพวงสละ  โดยเด็ดผลที่บิดเบี้ยวทิ้งไป เพื่อให้มีปริมาณผลพอเหมาะกับความสมบูรณ์ของต้น

การช่วยผสมเกสร

การเตรียมดอกตัวผู้สำหรับใช้ในการช่วยผสมเกสร ทำได้โดยการใช้ดอกตัวผู้ของสละที่บานแล้วมาเคาะที่ดอกสละตัวเมียที่บานเต็มที่ หากเป็นการผสมเกสรจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมเกสรตัวผู้เพื่อให้ผสมได้เพียงพอในฤดูกาล โดยนำดอกตัวผู้ของสละที่เริ่มบานมาผึ่งแดดประมาณ 2 ชั่วโมง

แล้วนำมาร่อนในตะแกรงขนาดประมาณ 250 ช่อง/ตารางนิ้ว เกสรที่ได้หากต้องการใช้ให้นำมาผสมแป้ง ในอัตรา 1 : 20 ส่วนคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำมาผสมกับเกสรของดอกสละตัวเมียที่บานเต็มที่ โดยใช้พู่กันทา (เกสรตัวเมียตั้งแต่เริ่มบานถึงบานเต็มที่ใช้เวลา 2 วัน)ส่วนเกสรที่ยังไม่ได้ใช้สามารถ  ที่จะเก็บเพื่อใช้ในการผสมในครั้งต่อไป โดยเก็บไว้ในตู้เย็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผสมเกสร คือ ช่วงเวลา 13.00 -15.00 น.

ผลผลิต

ผลผลิตของสละ ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ เช่น การปฏิบัติดูแลรักษาสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งการช่วยผสมเกสร สละอินโดที่ปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพารา เริ่มให้ผลผลิต เมื่ออายุประมาณ 3 ปี โดยผลผลิตของสละอินโดเฉลี่ยประมาณ 10-15 กิโลกรัม/กอ/ปี

การเก็บเกี่ยว

เมื่อผลสละอินโดมีครบอายุการเก็บเกี่ยว ประมาณ 6 เดือนหลังจากผสมเกสรแล้ว จะมีผลขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอม แต่ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกครั้ง จะต้องชิมทดสอบรสชาติก่อน เพราะแต่ละพวงจะสุก-แก่ ไม่พร้อมกัน เมื่อชิมแล้วพบว่ามีรสฝาด แสดงว่ายังสุกได้ไม่เต็มที่ต้องรออีกระยะจึงค่อยเก็บเกี่ยว   หากชิมว่ามีรสหวาน จึงค่อยใช้มีดสแตนเลสตัดพวงสละอินโด โดยระวังไม่ให้ผลหลุดร่วง

การบรรจุหีบห่อและการขนส่ง

ควรตัดแต่งผลที่เน่าเสีย และเศษดินเศษใบไม้ต่างๆ ออกจุ่มล้างน้ำ โดยใช้แปรงขัดให้สะอาด นำไปบรรจุในเข่งหรือตะกร้าที่บุด้วยใบตองหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ หากผลผลิตมีปริมาณมาก หรือต้องรอการขนส่งเป็นระยะเวลานาน ควรเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นและมีความชื้นเหมาะสม  จะช่วยเก็บรักษาผลผลิตไว้ได้นานขึ้น

การป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรู

โรคที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุดและโรคยอดเน่า ป้องกันและกำจัดโดยใช้สารเคมี กำจัดเชื้อราได้หลายชนิด เช่น เบนโนมิลคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ และคาร์เบนดาซิม เป็นต้นแมลงที่ทำลาย เช่น ด้วงแรด หนอนร่าน และด้วงงวง ป้องกันโดยทำให้กอมีสภาพโปร่งและกำจัด

แหล่งขยายพันธุ์โดยการใช้สารเคมีต่างๆ เช่น ใช้ลูกเหม็น 6 – 8 ลูก หยอดที่ยอดอ่อน หรือใช้สารเคมี เช่น คาร์ฟูราน โรยตามซอกกาบใบ เพื่อขับไล่และกำจัดด้วงแรด ส่วนหนอนร่านซึ่งเกาะเป็นกลุ่ม อาจจะตัดใบแล้วนำไปเผาทิ้ง หรือใช้สารเคมีทำลาย สำหรับด้วงงวงกำจัดได้โดยการใช้สารเคมี เช่น คาร์บาร์ริล หรือเมโททิล เป็นต้น

ที่มา : งานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

รูปสละ (จาก Google ของ งานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)




บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ