ข้อคิดก่อนลาออกจากงานประจำมาทำอาชีพเกษตร ตอนที่ 2 การเลือกพืชที่จะเพาะปลูก
ข้อคิดก่อนลาออกจากงานประจำมาทำอาชีพเกษตร
ตอนที่ 2 การเลือกพืชที่จะเพาะปลูก
ซึ่งคุณวาสนา ได้ให้ข้อคิด “เรื่องเกี่ยวกับการเลือกพืชที่จะเพาะปลูก” ไว้ดังนี้ครับ.. การจะเริ่มทำการเกษตรได้นั้น เราควรมีความรู่้เกี่ยวกับพืชที่เราจะทำการเพาะปลูกบ้าง ก่อนจะลงมือปลูก ขออนุญาตให้ข้อคิดเกี่ยวกับ การเลือกพืชที่จะใช้เพาะปลูกในที่ดิน ที่เราได้เลือกไว้ในตอนที่ 1 หรือถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอนที่หนึ่ง สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ลิ้งนี้เลยครับ “การเลือกซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ”
การเลือกพืชที่จะเพาะปลูก ควรคำนึงถึงหลักคร่าวๆดังนี้
1. ก่อนจะปลูกอะไร กรุณาสำรวจสภาพดินและน้ำ ก่อนว่าเหมาะกับพืชในใจคุณหรือเปล่า อย่าบุ่มบ่ามลงมือปลูกตามกระแส หรือตามใจชอบ ตัวอย่างเช่นที่ดินสวนวสาเป็นดินเปรี้ยวเพาะปลูกพืชตระกูลส้ม-มะนาวได้ดี มะม่วง มะละกอได้ แต่ปลูกทุเรียน ลำไย มังคุดแล้วไม่โต (ลองแล้ว) ถึงกระนั้นก็ตามเวลาเรามี “เกษตรเกิน” (ผู้ที่แสดงตนว่ารู้มากกว่าเกษตรกร) มาเยี่ยมที่สวนก็มักจะแนะนำให้เราลองปลูกมังคุด ปลูกทุเรียนอยู่เสมอๆ เพราะส่งนอกได้ราคาดี คนแนะนำส่วนใหญ่ก็คิดแค่นั้น แต่เกษตรกรที่แท้จริงที่เป็นเจ้าของที่ดินควรศึกษาสภาพดินและน้ำก่อนลงมือปลูกอะไร เพื่อจะได้ประหยัดเวลาและทุนที่ถมลงไป
2. ควรเลือกพืชที่จะปลูกมากกว่า 1 ชนิด เพื่อบริหารความเสี่ยง เผื่อชนิดหนึ่งราคาตกหรือขายไม่ออก ชนิดอื่นจะได้ช่วยเฉลี่ยรายได้ แต่ไม่ควรหลายชนิดเกินไปจนปริมาณไม่คุ้มค่าขนส่ง เช่น มีที่ดิน 1 ไร่ แต่อยากปลูกมะม่วง มังคุด ลำไย มะนาว พริกขี้หนู เพื่อส่งออก แบบนี้แนะนำว่าให้ลืมเรื่องส่งออกไปได้เลย ให้ปลูกแบบพอเพียง คือเก็บทานเอง หรือส่งตลาดแถวสวนจะดีกว่าค่ะ
3. พืชแต่ละชนิดมีความต้องการน้ำไม่เท่ากัน หากจะปลูกผสมผสาน ควรเลือกพืชที่ต้องการน้ำ ปุ๋ยและยาคล้ายๆกันปลูกไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ปริมาณแสงก็เป็นสิ่งสำคัญ หากพืชชนิดหนึ่งต้องการแสงมาก ก็อย่าปลูกไว้ใกล้ๆกับพืชที่ให้ร่มเงา เช่น อย่าปลูกมะละกอไว้ใกล้กอไผ่ เพราะในที่สุดร่มเงาของไผ่จะบังมะละกอทำให้ไม่สามารถเติบโตได้ และเกิดโรคระบาดในที่สุด หรือ หากจะปลูกมะนาวทำนอกฤดู ก็ไม่ควรปลูกใกล้กับพืชที่ต้องการน้ำ เพราะพอเรางดน้ำเพื่อให้มะนาวออกดอก ต้นไม้ข้างๆ ก็จะตายไปด้วย ทำนองนี้
4. ตามทฤษฎีพอเพียง ควรปลูกพืชชนิดให้ประโยชน์เกื้อหนุนกับการเกษตรของท่านด้วย เช่น หากปลูกส้มหรือมะนาว ก็ควรเผื่อพื้นที่สำหรับปลูกไผ่ไว้ด้วย เพราะเวลาค้ำต้นมะนาวหรือส้มต้องใช้ไม้ไผ่ แทนที่จะไปซื้อ ก็ปลูกเองประหยัดกว่า นอกจากนี้หากใครคิดทำเกษตรอินทรีย์ ก็ปลูกพวกสะเดา หนอนตายหยาก หรือสมุนไพรอื่นๆไว้ด้วย จะได้เอาไว้ทำเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายค่ะ
5. นอกจากนี้ ให้คิดในใจเสมอว่า พื้นที่แต่ละพื้นที่มีลักษณะภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน อย่าคิดว่าการลอกเลียนแบบสวนที่ประสบความสำเร็จแล้วคุณจะประสบความสำเร็จด้วย การเกษตรไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูปที่ต้มกินที่ไหนก็รสชาติเดิม มักจะมีคนถามว่าหากปลูกมะนาวเหมือนสวนวสาต้องใส่ปุ๋ยเดือนไหน ฉีดยาเดือนไหน ฉีดอะไร ซึ่งขอเรียนว่า สวนวสาอยู่นครนายก สภาพภูมิอากาศและดินจะต่างจากสวนที่อยู่ราชบุรี พิษณุโลก หรือ เชียงใหม่ ดังนั้นเวลาที่ฉีดยา ใส่ปุ๋ย เก็บผลผลิตก็จะต่างกัน ช่วงเวลาเดียวกันที่สวนวสาเจอโรคราน้ำค้างแต่สวนอื่นอาจเจอเพลี้ยแป้ง อย่างนี้ยาที่ใช้ก็ต่างกัน ต้องหมั่นสังเกตอาการของพืชแล้วค่อยคิดเรื่องการบำรุงรักษาพืชค่ะ
6. เกษตรกรมือใหม่หลายๆ คนมักจะคิดว่า “พืช” ก็เหมือนวัตถุ สิ่งของ ที่ซื้อมาเก็บเอาไว้ก็ไม่เสื่อมสลาย ไม่เปลี่ยนรูป เหมือนเสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ดังนั้นพออ่านประกาศโฆษณาขายเมล็ดพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ชนิดโน้นชนิดนี้ ที่กำลังเป็นสมัยนิยมกัน ก็เกิดความอยากครอบครองเป็นเจ้าของ เลยสั่งมาเก็บไว้ก่อน ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ปลูก บางคนยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ซื้อที่ดินเลยด้วยซ้ำ!!! ทีนี้กว่าจะซื้อที่ กว่าจะปรับดิน ทำร่องน้ำ ทำระบบน้ำ เวลาก็ผ่านไปปีเศษ แล้วค่อยนำเมล็ดมาเพาะ แล้วก็พบว่า อ้าว.. เมล็ดที่ซื้อมาทำไมมันไม่งอก โดนหลอกขายมาแน่ๆเลย หรือไม่ก็เป็นกรณีกิ่งพันธุ์ที่ซื้อมา อุตส่าห์เอาลงกระถางไว้แล้วนะ บำรุงจนต้นโตเบ้อเริ่ม เอาลงดินมันต้องเก็บผลได้ในไม่กี่เดือนแน่นอน ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นนะคะ อัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ตาม ยิ่งเก็บนานมันยิ่งมีอัตราการงอกต่ำ บางพันธุ์ดีหน่อยคืองอกแต่งอกช้า บางพันธุ์พอความชื้นในเมล็ดมันหมดเมล็ดก็แห้งตายไปและไม่งอกค่ะ ส่วนต้นไม้ ถ้าเรานำลงกระถางไว้นานๆ รากมันจะขดอยู่ในกระถาง เวลาเอาไปลงดินมันเลยโตช้า เพราะแทนที่รากจะได้ชอนไชไปหาอาหารไกลๆ ก็กลับจับวนกันเป็นก้อนที่ก้นกระถางค่ะ
7. การเลือกพืชที่จะปลูก นอกจากความแท้ของสายพันธุ์แล้ว ควรพิจารณาวางแผนการปลูกให้ผลผลิตออกมาเป็นพันธุ์แท้ด้วยค่ะ จะได้ไม่มีปัญหาด้านการตลาด และการขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคต ขออนุญาตยกตัวอย่างมะนาวไร้เมล็ด (ซึ่งการขยายพันธุ์ทำโดยการตอนกิ่ง) หากปลูกรวมกันในระยะใกล้กันกับมะนาวมีเมล็ด เช่น มะนาวแป้น ก็มีความเสี่ยงว่าผลที่ออกมาอาจจะมีเมล็ดเนื่องจากเกสรอาจจะผสมกันได้ ทำให้มีปัญหาด้านการตลาดต่อไป เช่นเดียวกับมะละกอ หากปลูกหลายสายพันธุ์ในพื้นที่เดียวกัน ก็อาจทำให้ผลที่ออกมามีรสชาติและกลิ่นแตกต่างไป ทำให้มีปัญหาด้านการตลาดค่ะ การปลูกพืชแนวผสมผสาน ไม่จำเป็นต้องปลูกพืชตระกูลเดียวกันในพื้นที่เดียวกันค่ะ
8. โปรดชิม ก่อนปลูก มีลูกค้าจำนวนมาก โทรมาสั่งซื้อกิ่งพันธุ์มะนาวตาฮิติ และเมล็ดมะละกอฮอลแลนด์ของสวนวสา โดยประมาณ 30% ของลูกค้า มักมีคำถามประโยคที่ว่า “รสชาติมันเป็นยังไงครับ/คะ” ซึ่งทำให้ทางเราตอบไปว่า “กรุณาไปที่ซุปเปอร์ หรือ ตลาด แล้วซื้อมาชิมก่อน ถูกใจค่อยมาซื้อกิ่ง/เมล็ดพันธุ์ไปปลูก” เราอยากแนะนำเกษตรกรทุกคนนะคะ ก่อนจะปลูกพืช ผัก ผลไม้อะไร กรุณาชิมก่อน เพราะถ้าคุณซื้อตามกระแส โดยที่ตัวคุณเองก็ไม่ได้ชอบ อย่างนี้เวลาขายของ ลูกค้าถามว่าอร่อยไหม มันดียังไง เจ้าของสวนก็ตอบไม่ได้ แล้วจะขายของอย่างไรกัน และถ้าใจคนปลูกไม่ได้รักสิ่งที่ตนเองปลูก พืชผักมันก็ไม่งามนะคะ เพราะเจ้าของไม่ได้ชิมเอง ไม่รู้ว่ามันหวานหรือไม่หวาน น้ำเยอะไหม ทำกับข้าวได้ไหม อย่างนี้เป็นต้น ตัวอย่าง บางคนไม่ทานมะละกอ แต่จะปลูกมะละกอ เพราะในหนังสือเกษตรเขาลงกันทุกเล่ม มะละกอเงินล้าน เลยอยากได้เงินล้านบ้าง อย่างนี้ จุดตั้งต้นไม่ใช่เพราะอยากเป็นเกษตรกรแต่เป็นเพราะเงินล้าน มุ่งหาเงินโดยไม่รู้จักพืช ก็ไปไม่ถูกทางนะคะ ในที่สุดจะขาดทุนเปล่าๆ ไปซื้อชาเขียวกิน อาจจะได้เงินล้านง่ายกว่า ไม่ต้องเป็นหนี้เขาด้วย เป็นห่วงจริงๆ ค่ะ หลังๆ มานี่ มีการโหมกระแสพืชชนิดใหม่หลายชนิดจำนวนมาก ทั้งในหนังสือเกษตร ทั้งในเวบ ทั้งร้านต้นไม้ ทำให้เกษตรกรมือใหม่หลายๆ คนลงทุนซื้อกิ่งพันธุ์ไปโดยไม่รู้ด้วยซ้ำนะว่าผลมันออกมาหน้าตาเป็นยังไง รสชาติเป็นอย่างไร ได้แต่อ่านว่ามันดี ต้านทานโรค ดูแลง่าย มีอนาคตไกล ก็ตัดสินใจสั่งไปปลูกแล้ว 300 ต้น ปลูกไป 2 ปีพอเก็บผลได้ปรากฏว่าตลาดไม่รับซื้อ เสียเวลาเสียเงินไปเปล่าๆ แบบนี้มีเยอะมากค่ะ
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ