การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า ประหยัดพื้นที่ ต้นทุนน้อย
สำหรับใครที่ชื่นชอบรับประทานเห็ดโดยเฉพาะเห็ดฟาง วันนี้เราจะมาเผยวิธี การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า ประหยัดพื้นที่ ต้นทุนน้อย โดยวิธีการเพาะเห็ดนี้ความรู้จาก “กรมวิชาการเกษตร” เผื่อใครสนใจเพาะทานเองหรือเพาะขายก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด เราไปติดตามกันเลยครับ..
สูตรอาหารเพาะ (1 ตะกร้า)
- ฟางข้าวแห้ง 1 กิโลกรัม
- ขี้ฝ้ายแห้ง 0.5 กิโลกรัม
- มูลสัตว์แห้ง (ม้า วัว หมู) 0.3 กิโลกรัม
วิธีการเตรียมวัสดุเพาะเห็ดฟาง
- แช่ฟางข้าวในน้ำประมาณ 12 ชั่วโมง โดยฟางข้าวควรเลือกจากแปลงที่ไม่ใช้สารเคมี น้ำที่ใช้เป็นน้ำสะอาด และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปาที่มีปริมาณคลอรีนสูง
- แช่ขี้ฝ้ายในน้ำประมาณครึ่งชั่วโมง หรือแช่ให้เปียกพออิ่มตัว โดยสังเกตขี้ฝ้ายทั้งหมดจมน้ำ
- เชื้อเห็ดฟางที่ดีควรมีกลุ่มเส้นใยสีขาวหนาแน่น เจริญต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอตลอดถุง มีจุดขาวเล็กๆที่เส้นใยเริ่มรวมตัวกัน และไม่ปรากฏบริเวณสีเขียวดำซึ่งอาจเกิดจากการปนเปื้อนจุลินทรีย์อื่น และไม่มีศัตรูเห็ด
วิธีการเพาะเห็ดฟาง
- นำเชื้อเห็ดฟางขนาดบรรจุ 500 กรัม ฉีกหัวเชื้อเห็ดฟางเป็นชิ้นเล็กๆ แบ่งเชื้อออกเป็น 6 ส่วน เท่าๆกัน เพาะได้ 2 ตะกร้า ใช้ตะกร้าละ 3 ส่วน
- เตรียมตะกร้า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูงประมาณ 12 นิ้ว มีช่องห่างประมาณ 1 นิ้ว ก้นตะกร้าไม่ทึบเพื่อระบายน้ำได้ดี
- ชั้นที่ 1 นำฟางข้าวซึ่งแช่น้ำแล้ว มารองก้นตะกร้า กดให้แน่น สูงประมาณ 3 นิ้ว หรือประมาณ 1 ใน 3 ของตะกร้า
- โรยขี้ฝ้าย ซึ่งแช่น้ำจนอิ่มตัวแล้วให้ชิดข้างขอบตะกร้า กว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ หนาประมาณ 1 นิ้ว เว้นตรงกลางไว้ แล้วโรยมูลสัตว์ทับบนขี้ฝ้ายชิดขอบตะกร้าเช่นเดียวกัน
- โรยเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ 1 ส่วน โดยโรยชิดขอบตะกร้าเช่นเดียวกับขี้ฝ้ายและมูลสัตว์
- ชั้นที่ 2 ใส่ฟางข้าว ขี้ฝ้าย มูลสัตว์ เช่นเดียวกับชั้นที่ 1
- ชั้นที่ 3 นำฟางข้าวมาใส่ในตะกร้าแบบเดียวกับชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 สูงประมาณ 3 นิ้ว
- โรยด้วยขี้ฝ้ายให้เต็มพื้นที่ด้านบน หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยมูลสัตว์ทับบนขี้ฝ้ายให้เต็มพื้นที่เช่นเดียวกัน
- โรยเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้อีก 1 ส่วน ให้เต็มพื้นที่ด้านบนเช่นกัน
- โรยฟางข้าวให้เต็มพื้นที่ด้านบนอีกครั้ง กดให้แน่น หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้ฝักบัวรดน้ำให้ชุ่ม สังเกตมีน้ำไหลซึมจากก้นตะกร้าเล็กน้อย
- นำตะกร้ามาเรียงบนวัสดุรองให้สูงจากพื้นเล็กน้อย โดยวางตะกร้า 3 ใบติดกัน แล้ววางอีก 1 ตะกร้าด้านบนตรงกลางระหว่างตะกร้าทั้ง 3 ตะกร้า
- ครอบด้วยสุ่มไก่หรือโครงจากวัสดุอื่นๆ คลุมทับด้วยพลาสติก จากด้านบนถึงพื้นให้มิดชิด แล้วปิดทับด้วยตาข่ายพรางแสง หรือฟางข้าว
การเปิดดอกและการดูแล
-
วิธีการบ่มเส้นใย
ต้องควบคุมอุณหภูมิให้ได้ประมาณ 37- 40 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปให้เปิดช่องเพื่อระบายอากาศด้านบน หรือรดน้ำที่พื้นรอบ ๆ ใช้เวลาบ่มเส้นใย 4-7 วัน
-
การกระตุ้นการเกิดดอก
หลังบ่มเส้นใย ลดอุณหภูมิภายในสุ่มไก่หรือโครงครอบ ให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส โดยเปิดระบายอากาศ เพื่อให้เส้นใยสร้างตุ่มดอกเห็ด
-
การพัฒนาเป็นดอกสมบูรณ์
หลังเกิดตุ่มดอก รักษาอุณหภูมิภายในสุ่มไก่หรือโครงครอบ ให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส และอาจให้น้ำเพื่อรักษาความชื้นบริเวณโดยรอบ หลังจากนั้นประมาณ 2-4 วัน สามารถเก็บผลผลิตได้
เก็บผลผลิตด้วยมือ โดยจับดอกเห็ดฟางที่ได้ขนาดแล้ว เป็นดอกตูม เยื่อหุ้มหมวกดอกไม่แตก หมุนเล็กน้อยก่อนยกขึ้น ดอกเห็ดก็จะหลุดออกมาโดยง่าย ดอกเห็ดที่เกิดเป็นกลุ่มให้เก็บพร้อมกันให้หมด
ต้นทุนการผลิต
- การผลิต 1 ชุด (4 ตะกร้า) 495 บาท
- สุ่มไก่ 1 อัน
- ตะกร้า 4 ใบ
- ผ้าพลาสติก(หนำกว้าง 2 เมตร) 3 เมตร
- ตาข่ายพรางแสง(หนำกว้าง 2 เมตร) 3 เมตร
การผลิต 1 ชุด (4 ตะกร้า) 52 บาท
- ค่าฟางข้าว
- ค่าขี้ฝ้าย
- ค่ามูลสัตว์
- เชื้อเพาะ
ผลผลิต/รายได้
- ผลผลิต 2 กก./4 ตะกร้า(0.5 กก./ตะกร้า)
- รายได้ 180 บาท
- ราคา 90 บาท/กก.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้
การเพาะเห็ด กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด, สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 0-2579-8558, 0-2579-0147
ขอบคุณแหล่งที่มา : กรมวิชาการเกษตร
: https://www.doa.go.th/
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ