วิธีการเลี้ยงหอยขมในวงบ่อซีเมนต์ ใช้พื้นที่น้อย (มือใหม่เลี้ยงหอยขม)
หอยขม เป็นอาหารที่ได้รับความนิยม เป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันนั้นหาหอยขมตามท้องนา คูคลองยากขึ้นทุกวัน บทความนี้เราจะพามาดู วิธีการเลี้ยงหอยขมในวงบ่อซีเมนต์ สำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นเลี้ยงหอยขมกัน ขั้นตอนไม่ยุ่งยากแน่นอนครับ
หอยขม (Pond snail, Marsh snail, River snail) หรือภาษาอีสานเรีอกว่า หอยจุ๊บ หรือ หอยดูด นั้นเป็นที่รู้จักกันดีและมีขายในตลาดทั่วไป พบในแหล่งน้ำจืดทั่วไป นิยมนำมาทำอาหาร เช่น แกงคั่วหอยขม แกงอ่อมหอยขม และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยชาวบ้านนิยมเก็บมาขาย ส่วนมากจะพบบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นผลพลอยได้สำหรับเจ้าของบ่อเลี้ยงปลา แต่ในปัจจุบันนั้นได้มีการทำเป็นระบบฟาร์มเพื่อการเพาะเลี้ยงหอยขมในกระชังหรือการเลี้ยงหอยขมในบ่อปูน โดยเฉพาะ หอยขมเป็นสัตว์ที่มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว และที่สำคัญขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จึงเหมาะสำหรับมือใหม่เริ่มต้นเลี้ยงหอยขม ไว้กินในครัวเรือนกันครับ
การเตรียมบ่อในการเลี้ยงหอยขม
สำหรับการเตรียมบ่อวงบ่อซีเมนต์ หรือ บ่อปูนแบบก่อสีเหลี่ยมนั้น ในการเตรียมบ่อใหม่ นั้นควรทำการฆ่าเชื้อและกลิ่นของปูนก่อน เหมือนกันกับการเตรียมบ่อ สำหรับ เลี้ยงกุ้งฝอย หรือ การเครียมบ่อ เลี้ยงปูนา ซึ่งสามมารถทำได้ดังนี้
- ถ้าบ่อซีเมนต์ซื้อมาใหม่ ให้นำบ่อซีเมนต์มาวางในพื้นที่จะเลี้ยง เรียงต่อกันตามความเหมาะสมของแต่ล่ะพื้นที่ จากนั้นในแต่ล่ะบ่อปูนให้ทำการต่อท่อระบายน้ำทิ้งไว้ทางด้านล่าง เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการระบบน้ำ แล้ว ฉาบปิดพื้นด้วยปูน ตามความเหมาะสมให้ลาดเเอียงไปทางท่อระบายน้ำเล็กน้อย
- เมื่อเตรียมบ่อปูนเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนทำการล้างบ่อด้วยการใส่น้ำเปล่าลงไปประมาณ ครึ่งบ่อแล้วนำต้นกล้วยลงไปแช่ทิ้งไว้ 7-14 วัน เพื่อเป็นการปรับสมดุลของบ่อ และล้าง สารเคมีตกค้างในบ่อปูนออกไป ให้ทำเหมือนกันทุกบ่อ
- เมื่อแช่บ่อจนบ่อหมดกลิ่นแล้วก็ทำการล้างบ่อปูนให้สะอาด และบ่อที่ซื้อมานั้นควรทำท่อน้ำล้นไว้ด้วย จะดีมาก เพื่อกันไม่ให้น้ำล้น เวลาที่ฝนตก ซึ่งอาจจะทำให้หอยไต่หนีได้
- หลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วให้ใส่ดินร่วนปนทราย รองก้นบ่อเล็กน้อยแล้วเติม น้ำประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ หาพืชน้ำมาปลูกในบ่อเช่น ต้นผักตบ หรือ พืชน้ำตามท้องถิ่นที่หาได้ พร้อมทั้ง ใส่พืชน้ำกิ่งไม้,ก้านมะพร้าว ให้เขาได้เกาะและดูดกินอาหาร สำหรับผักตบชวาก่อนนำลงในบ่อก็ควรแช่ด่างทับเพื่อฆ่าเชื้อโรค เมื่อนำมาเลี้ยงหอยขมเขาจะได้ไม่ติดเชื้อด้วย
“ควรใส่ทุกอย่างเตรียมก่อนปล่อยหอยขมลงปล่อยประมาณ 7-10 วัน ก็จะเป็นการดีเพราะว่าตะไคร้น้ำจะเริ่มจับที่ทางมะพร้าวและก็เศษใบไม้ก็เริ่มเปื่อยแล้ว” - จากนั้นสามารถนำหอยขม ลงบ่อเพื่อเลี้ยงได้เลย ซึ่งเราสามารถเก็บหอยจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาปล่อยก็ได้ หรือ จะสั่งซื้อจาก กลุ่มผู้เลี้ยงหอยขม ใน Facebook หรือตาม ตลาดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยงได้เลย และควรคัดตัวที่โตๆแข็งแรงๆ ด้วย
ปริมาณในการปล่อยหอยขมลงในบ่อกลม หอยขมพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 1.5 -2 กิโลกรัม ซึ่งจะมาหอยขมประมาณ 60-100 ตัว ต่อวงบ่อซีเมนต์
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์หอยขม
พ่อแม่พันธุ์หอยขมที่ใช้เลี้ยงมีอายุตั้งแต่ 3 เดือน ควรเลือกพ่อแม่หอยที่มีขนาดใหญ่ น้้าหนักตั้งแต่ 60-100 ตัว ต่อกิโลกรัม หอยขมจะมี 2 เพศ ในตัวเดียวกัน มีการผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเอง เมื่ออายุได้ 60 วัน ออกลูกเป็นตัวครั้งละประมาณ 40-50 ตัว
อาหารที่ใช้เลี้ยงหอยขม
อาหารที่ใช้เลี้ยง เป็นอาหารปลาดุกเล็กโปรตีนก็ประมาณ 40% มาผสมกับข้าวเหนียวนึ่งสุก (ซื้อมา 10 บาท) ตำให้ละเอียด ปั้นเป็นลูกเล็กขนาดเท่าหัวแม่มือ ให้บ่อละ 5 ลูก สัปดาห์ให้อาหาร 2 ครั้ง ในบ่อเลี้ยงใส่ผักตบชวาหรือใส่ใบไม้แห้งลงไปเพื่อเป็นอาหารอีกทางหนึ่งด้วย
ข้อควรระวังในการให้อาหารคือ ต้องดูความสะอาดของน้ำอย่าให้เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะจะทำให้หอยตายได้ แนะนำควรเติมน้ำหมักชีวภาพลงไปบ้างเพื่อปรับสภาพน้ำ
ระยะเวลาในการเลี้ยงหอยขม
ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 2 เดือน ได้เริ่มจับขาย แต่ต้องทยอยจับ เพราะหอยขมโตไม่เท่ากัน และ มีหลายขนาด ควรเลือกหอยที่โตเต็มที่ก่อน ส่วนตัวเล็กยังคงต้องเลี้ยงต่ออีกระยะหนึ่งจึงจะจับขายได้ ครั้ง หนึ่งจะจับขายประมาณ 30-50 กิโลกรัม ราคาขายจะอยู่ที่ 50-60 บาท นับได้ว่าเป็นรายได้ดีเลยทีเดียว
เมนูอาหารยอดนิยม “หอยขม”
หอยขมสามารถนำมาทำอาหารได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นแกงคั่วหอยขม ยอดชะอม , แกงคั่วหอยขมใบชะพลู หรือ จะต้มกินกับส้มตำก็รสชาติ อร่อยมากๆ ครับ..
แหล่งข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม
- สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ www.opsmoac.go.th
- รูปภาพประกอบ กลุ่ม Facebook ผู้เลี้ยงหอยขม