เทคนิควิธีการปลูกทุเรียน และการดูแลให้ได้ผลดี!!
เทคนิควิธีการปลูกทุเรียน และการดูแล
สวัดดีครับ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง “เทคนิควิธีการปลูกทุเรียน และการดูแลให้ได้ผลดี” ทุเรียนนั้น เป็นผลไม้ที่คนไทยนิยมมากเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยรสชาติหวาน มัน อร่อย เป็นที่ถูกปากคนส่วนใหญ่ จนได้ตำแหน่งเป็นถึงราชาแห่งผลไม้ แถมทุเรียนยังเป็นพืชไร่ที่สร้างมูลค่ามหาศาลใหักับคนปลูก บางสายพันธุ์ราคาเฉลี่ยหลักร้อยขึ้นเลยทีเดียว
ที่นี้เรามาพูดถึงการปลูกทุเรียนกันครับ ซึ่งการปลูกทุเรียนควรปลูกตอนเย็นเพื่อให้ต้นทุเรียนไม่โดนแดดหลังจากที่ปลูกเสร็จ โดยเริ่มจากเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เตรียมต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งพอสรุปได้เป็น 9 ขั้นตอน ให้ทุกท่านได้ศึกษากันเพื่อ ความเข้าใจที่ง่ายเรื่องการปลูก ดังนี้ครับ
- เตรียมอุปกรณ์ ในการปลูกทุเรียนควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ กรรไกรตัดกิ่ง มีดเล็ก เชือกฟาง จอบ พลั่ว สแลนบังแดด ฟาง ไม้ค้ำกิ่งพันธ์ุทุเรียนที่สูงกว่าต้นทุเรียนเล็กน้อย และ ปุ๋ยอินทรีย์ โดยผสมปุ๋ยอินทรีย์อัตราส่วนแกลบดิบ 2 กระสอบ และ ปุ๋ยคอก 1 กระสอบใส่ไตรโคเดอร์มาผสมทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน
- เตรียมกิ่งพันธุ์ กิ่งพันธุ์ทุเรียนที่ปลูกอาจเป็นกิ่งตอน กิ่งเสียบยอด หรือ กิ่งทาบก็ได้ แต่กิ่งพันธุ์ควรมีอายุประมาณ 1 ปี ขึ้นไป หากอายุน้อยกว่านี้จะไม่แข็งแรง จากนั้นเมื่อได้กิ่งพันธุ์อายุเหมาะสมแล้ว ควรรอให้ใบอ่อนแก่ก่อนหรือ เพฉลาด จึงลงปลูก ไม่ควรลงปลูกขณะที่แตกใบอ่อน เพราะหากโดนแดดจัดจะทำให้ทุเรียนเฉาในทันที กิ่งทุเรียนจะเป็นทรงกระโดง หรือ ทรงกิ่งข้างก็ได้
- ยกโคกปลูก การปลูกจะยกโคก(พูนดิน) โดยใช้ดินจากบริเวณที่จะปลูกใช้จอบฟันดินให้ซุยและพูนขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ในขั้นตอนการทำโคกควรผสมปุ๋ยอินทรีย์ (ผสมแกลบดิบและปุ๋ยคอก) คลุกเคล้าไปกับดินที่ยกเป็นโคกจะดีมาก จากนั้นขุดหลุมปลูกบริเวณกลางโคก โดยขุดลงไปเท่าขนาดถุงชำ เพื่อล่อให้รากทุเรียนออกมาหาอาหาร และถ้ามีปลวกให้ใช้พูราดาน 1 ส่วนผสมปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 3 ส่วน โรยที่ก้นหลุมประมาณ 1 กำมือก่อนแล้วจึงลงปลูก
- กรีดถุงชำและสังเกตว่ารากขดหรือไม่ เมื่อตัดถุงชำ(ถุงสีดำ)ออกแล้ว ควรเอาดินส่วนล่างของถุงชำออกประมาณ 1 ใน 5 เพื่อให้รากทุเรียนได้เจอกับดินใหม่ที่เราผสมไว้ ขณะที่เอาดินจากถุงชำออกนั้น ต้องสังเกตที่รากแก้ว หากพบว่ารากแก้วขดอยู่ ก็ควรใช้กรรไกรตัดออก เพราะรากที่ขดนั้นจะทำให้ต้นทุเรียนโตช้ากว่าที่ควร ในกรณีที่กิ่งพันธุ์ทุเรียนที่ชำเอาไว้นาน จะทำให้ดินมีลักษณะจับตัวกันแน่นและรากแก้วของทุเรียนอาจขดอยู่เป็นเรื่องปกติ แต่เราสามารถตัดรากแก้วที่ขดออกได้ เนื่องจาก ทุเรียนมีรากแขนงที่แตกมาจากรากแก้วและมีรากพิเศษ หรือ “รากตะขาบ” เป็นรากหากิน ทำให้การตัดรากแก้วไม่กระทบกระเทือนการหากินของต้นทุเรียน จึงแนะ นำให้ตัดรากแก้วทั้งในกรณีที่รากแก้วขดและไม่ขด หากไม่ตัดรากแก้ว รากแก้วจะลงไปดูดน้ำใต้ดินทำให้ทรงพุ่มของทุเรียนสูงชะลูดเพียงอย่างเดียว ส่วนผู้ที่ไม่ได้ยกร่องก็สังเกตเพียงว่ารากแก้วขดหรือไม่ หากรากแก้วขดจึงค่อยตัดออก ซึ่งเวลาตัดรากควรระวังไม่ให้มือของเราสัมผัสแผลที่เราตัดราก เพราะ อาจจะเป็นเชื้อราได้
- การปลูก ควรใช้ไม้ค้ำและผูกเชือก ตอนปลูกควรขยายรากให้แผ่ออกหรือจัดรากให้แผ่ออกไปรอบๆ ต้น ให้เหยียดตรงเมื่อทุเรียนโตขึ้นจะได้มีรากสมดุลกัน คือ แผ่รากไปรอบๆ ต้นป้องกันการโค่นล้ม วางกิ่งทุเรียนลงในกลางพูนดินให้ลำต้นตั้งตรง จากนั้นปักไม้ค้ำและผูกเชือกเพื่อป้องกันลมโยกต้นทุเรียน โดยปักระยะประมาณขอบดินที่มากับกล้าทุเรียน ระวังไม่ให้โดนราก และผูกเชือกฟางพอให้ไม้ค้ำประคองต้นได้ อย่าผูกแน่นจนเกินไป จากนั้นกลบโคนต้นทุเรียนและใช้ฟางคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น
- บังร่มให้ต้นทุเรียน นิสัยทุเรียนไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ดังนั้นจึงควรมีไม้บังร่มให้แก่ทุเรียนบ้างโดยเฉพาะทุเรียนในปีแรกที่ยังเล็กอยู่ต้องการร่มเงามาก สามารถบังร่มได้ 2 วิธี คือ 1. ใช้แสลนบังร่ม 2. ปลูกไม้บังร่ม
- ใช้แสลนบังร่ม ตัดแสลนสูงกว่าต้นประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้เงาแสลนทอดลงมาบังแดดให้ต้นทุเรียนได้ โดยแสลนที่ใช้บังควรบัง 3 ด้าน เปิดด้านที่โดนแดดตอนเช้าไว้ 1 ด้าน เพื่อให้ลมหมุนเวียนได้สะดวก ส่วนด้านบนไม่ต้องบังแสลน เนื่องจาก การบังแสลนด้านบนจะช่วยบังแดดแค่ตอนเที่ยง ไม่ได้ช่วยบังต้นทุเรียนเวลาช่วงสายและช่วงบ่าย และการบังแสลนด้านบนจะทำให้ต้นทุเรียนจะไม่ได้รับน้ำค้างเวลากลางคืน นอกจากนี้การปักแสลนควรเว้นระยะให้ห่างจากพื้นดินเล็กน้อยเพื่อให้ลมผ่านได้ และไม่ควรปักติดชิดต้นทุเรียนมากเกินไป เพราะแสลนจะเก็บความร้อนไว้ เมื่อผืนแสลนสัมผัสกับใบทุเรียนเป็นเวลานานจะทำให้ใบไหม้ได้
- ปลูกไม้บังร่ม ไม้บังร่มจะช่วยให้ร่มเงาและให้ความชื้นแก่ต้นทุเรียน พืชบังร่มชั่วคราวที่ดีที่สุดคือกล้วยหอม หรือ กล้วยไข่ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ให้ร่มเงาเร็วที่สุด ส่วนไม้บังร่มถาวรนั้นในสวนแบบยกร่องนิยมปลูกต้นทองหลางสลับระหว่างต้นทุเรียน ต้นทองหลางมีประโยชน์มาก นอกจากบังร่มแล้ว ใบของทองหลางที่หล่นลงร่องสวน ยังสามารถขุดขึ้นมาถมโคนทุเรียนซึ่งเป็นพวกอินทรียวัตถุได้ พอถึงฤดูแล้งน้ำที่ระเหยจากใบทองหลางจะช่วยให้ความชื้นในอากาศมากขึ้น ทำให้ทุเรียนไม่ชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ไม้บังร่มยังเป็นรายได้จุนเจือชาวสวนอีกด้วย เช่น ค่ารักษาสวน ค่าปุ๋ยทุเรียน อีกทั้ง ยังช่วยป้องกันกำจัดวัชพืช เพราะเมื่อมีไม้บังร่มขึ้นปกคลุมแล้ว สวนก็จะร่ม พวกวัชพืชก็จะขึ้นน้อยลง
ก่อนที่จะปลูกทุเรียนควรที่จะปลูกไม้กันลมโดยรอบ และปลูกไม้เพื่อเป็นร่มทุเรียนให้สูงขึ้นอย่างน้อย 3 เมตร เสียก่อน เมื่อเห็นว่าสวนร่มครึ้มดีแล้วจึงค่อยลงมือปลูกทุเรียนได้ ลักษณะของไม่ที่เหมาะสมในการปลุกไม้กันลม ควรเป็นไม้ที่มีระบบรากลึกแข็งแรง รากไม่แผ่ออกไปกว้าง เพราะจะไปรบกวนทุเรียนแถวริมสุด เป็นไม้ที่ปลูกง่ายไม่ผลัดใบในฤดูแล้ง เจริญเติบโตเร็ว กิ่งไม่เปราะ มีลำต้นเหนียวและโอนอ่อนไปตามกระแสลมได้ มีใบพุ่มหนาตลอดลำต้น ใบไม่ใหญ่โตนัก ไม้กันลมที่ควรใช้ปลูก เช่น แคบ้าน สะเดา ขี้เหล็ก เป็นต้น
7. รดน้ำให้ต้นทุเรียน ในระยะแรกที่ปลูกควรรดน้ำตอนเช้าทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และควรรดน้ำบริเวณใกล้โคน เนื่องจากรากยังไม่เจริญไปห่างต้น วิธีการรดน้ำสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้สายยางรดน้ำ การใช้สปริงเกอร์หรือมินิสปริงเกอร์ เมื่อทุเรียนจะเริ่มตั้งตัวได้จะเริ่มแตกใบอ่อน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า การปลูกของเราทำได้เสร็จสมบูรณ์ โดยเวลาที่จะแตกยอดนั้น ถ้าเป็นกิ่งทาบหรือต้นเสียบยอดจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็จะเริ่มแตกใบอ่อน ถ้าเป็นกิ่งตอนอาจแตกใบอ่อนช้ากว่าเล็กน้อยประมาณ 2 เดือน
การดูแลเรื่องน้ำของทุเรียนในช่วง 2-3 ปีแรก สำหรับการดูแลในช่วง 2-3 ปีแรก อย่าปล่อยให้ทุเรียนที่ปลูกขาดน้ำนานๆ ยิ่งในฤดูแล้งทุเรียนนั้นจะแสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด เช่น ใบเหี่ยวเฉาในเวลากลางวัน สีของใบไม่สดใส ใบไม่เป็นมันเหมือนปกติ ขอบใบจะมีสีเหลืองและไหม้จากปลายใบเข้ามาทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตในที่สุด ใบก็จะร่วงผลัดใบ ถ้าไม่รีบให้น้ำต้นทุเรียนจะตายทั้งกิ่ง หรืออาจตายทั้งต้นเลยก็ได้ ดังนั้น การรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะ น้ำมีส่วนสัมพันธ์กับคุณภาพของเนื้อทุเรียน เนื้อทุเรียนจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของใบ ถ้าขาดน้ำใบทุเรียนจะร่วง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงผลและเนื้อทุเรียนด้วย
8. การให้ปุ๋ยทุเรียน การให้ปุ๋ยต้องคำนึงถึงความต้องการธาตุอาหารของทุเรียนในระยะเวลานั้นๆ เป็นหลัก เช่น ระยะการเจริญทางกิ่งใบทุเรียนต้องการไนโตรเจนมาก ก่อนออกดอกเป็นช่วงที่ต้องทำให้ทุเรียนหยุดการเจริญเติบโตทางกิ่งใบเพื่อเตรียมออกดอก ปุ๋ยที่จะใส่ต้องมีไนโตรเจนลดลง เพิ่มปุ๋ยฟอสเฟตและโปแตสเซียมสูง เป็นต้น
การใส่ปุ๋ยให้กับทุเรียนจึงต้องให้สอดคล้องกับช่วงการเจริญเติบโตการใส่ปุ๋ยผิดเวลาอาจเกิดผลเสียและเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ แต่เนื่องจากการใส่ปุ๋ยให้แก่ทุเรียนขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นสูตรตายตัว หรือมีการทดลองอย่างจริงจัง และดินของแต่ละท้องที่ที่มีการปลูกทุเรียนก็แตกต่างกันไป การที่จะใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยทุเรียนเริ่มตั้งแต่การเตรียมโคกปลูก คือผสมแกลบดิบและปุ๋ยคอกบนโคก หรือใส่เศษหญ้าและใบไม้แห้ง ผสมคลุกเคล้ากันไปหรือปุ๋ยอินทรีย์ให้สูงอย่างน้อย 20 – 30 เซนติเมตร ส่วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ยังไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยทุเรียนในช่วง 2 ปีแรก หลังปลูกยังไม่ให้ผล เป็นระยะที่มีความสำคัญมาก เพราะความสำเร็จในการทำสวนทุเรียนในช่วงนี้จำเป็นต้องบำรุงรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต แม้ว่าต้นทุเรียนเล็กยังต้องการปุ๋ยไม่มากนัก การใส่อาจขุดเป็นร่องตรงระดับปลายราก กว้างราว 1 หน้าจอบ ลึก 3 – 4 นิ้ว ขุดเป็นวงกลมรอบต้นแล้วโรยปุ๋ยลงในร่องรอบโคนต้นที่ขุดไว้ ใช้ดินกลบปุ๋ยให้มิด ถ้าเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักใส่จนเกือบเต็มร่องที่ขุดไว้ แล้วใช้ดินกลบ
9. การกำจัดวัชพืช การป้องกันวัชพืชในสวนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในการทำสวนทุเรียน ทุเรียนซึ่งมีรากอาหารอยู่ในระดับผิวดิน ถ้าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกรุงรังนอกจากจะแย่งอาหารและน้ำจากต้นทุเรียนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูทุเรียนได้ด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาสวนให้ปราศจากวัชพืชต่างๆ ได้ ก็ต้องคอยดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นคลุมยอดทุเรียนในระยะแรกได้ ซึ่งต้องทำการดายหรือถากถางออกเป็นครั้งคราว ในสวนทุเรียนที่เป็นที่ดอนอย่างน้อยต้องทำการเก็บวัชพืชปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง คือ กลางฤดูฝนขณะฝนทิ้งช่วงซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนกรกฎาคม และปลายฤดูฝน หลังจากหมดฤดูฝนแล้วประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม ซึ่งวัชพืชที่ถูกกำจัด เมื่อแห้งตายก็จะกวาดเข้าคลุมต้นทุเรียนที่ปลูกได้อีก
การป้องกันกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกพืชคลุมหรือพืชแซม เช่น กล้วย หรือพืชคลุมชนิดต่างๆ พืชเหล่านี้จะช่วยคลุมไม่ให้วัชพืชเจริญงอกงามได้เร็ว โดยเฉพาะพืชคลุมดินจะคลุมจนวัชพืชตายหมด พืชคลุมดินเหล่านี้จะขึ้นคลุมปิดบังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงผิวดินทำให้ดินไม่ร้อนจัดและชุ่มชื้นอยู่เสมอ รวมถึงทำให้การสูญเสียหน้าดินจากน้ำฝนน้อยลง
การเก็บเกี่ยวทุเรียน
สำหรับการเก็บเกี่ยวทุเรียนนั้น สำหรับคนที่ทำสวนทุเรียนมานานคงไม่หยากเรื่องการเก็บเกี่ยว แต่สำหรับมือใหม่ไม่มีประสบการณ์เพิ่มปลูกและเก็บเกี่ยวรอบแรกนั้นก็น่าจะยัง งงๆ อยู่บ้าง ซึ่งเราจะมาแนะนำกันสำหรับมือใหม่ครับ
สำหรับการเก็บเกี่ยวทุเรียนนั้น ควรเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะผลทุเรียนแก่แล้วเท่านั้น แล้วผลทุเรียนแก่เป็นแบบไหนล่ะ? ข้อสังเกตุเมื่อทุเรียนแก่จะพบการเปลี่ยนแปลงดังนี้
- สีเปลือกจะเปลี่ยนแปลงจากเขียวสดเป็นสีน้ำตาล แต่ผลที่อยู่นอกทรงพุ่มโดนแสงแดดมากจะมีสีน้ำตาลมากกว่า
- ส่วนของก้านผลเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำ สาก
- ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาล หนามกางออกร่องหนาค่อนข้างห่าง สังเกตรอยแยกบนพูจะเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นพันธุ์ก้านยาว จะเห็นไม่ชัด
- การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม ผลทุเรียนที่แก่จัดจะมี เสียงดังหลวม ๆ
โรคแมลงศัตรูทุเรี่ยน และการป้องกัน
ไรแดงทุเรียน
ไรแดงมีการระบาดมากในช่วงฤดูหนาวหรือตอนฝนทิ้งช่วง ซึ่ง มีอากาศแห้งแล้งและลมแรง โดยไรแดงจะดูดน้ำเลี้ยง อยู่บริเวณหน้าใบ ของทุเรียน โดยเฉพาะตามแนวเส้นกลางใบ และจะทำให้ใบร่วง หลังจากนั้น ทุเรียนจะแตกใบใหม่ ซึ่งจะตรงกับช่วงดอกบานหรือเริ่มติดผล ทำให้ ดอกและผลร่วงเสียหาย แต่ถ้าเป็นช่วงผลอ่อนแล้ว จะทำให้ผลบิดเบี้ยว
วิธีการควบคุมแบบผสมผสาน
- อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติไว้ควบคุมไรแดง ได้แก่ ไรตัวห้ำ ด้วงเต่า แมลงวันขายาว แมงมุม
- ถ้าสำรวจพบไรแดงกระจายทั่วทั้งสวน ให้ฉีดน้ำให้ทั่วในทรงพุ่ม ของต้นเพื่อลดปริมาณไรแดงลง
- เมื่อพบว่าไรแดงเพิ่มปริมาณสูงขึ้นให้ตรวจนับปริมาณไรแดง บนใบ ถ้าพบไรแดงปริมาณเฉลี่ย 10 ตัวต่อใบ ให้ใช้สารเคมีกำจัดไร คือ
– โปรพาร์ไกท์ 30 % อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– เฮกซีไธอะซ็อก 2 % อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
หนอนของผีเสื้อกลางคืน ปีกสีน้ำตาลเข้ม มีจุดสีเหลือง มักพบตัวเต็มวัยอยู่ในสวนเมื่อผล ทุเรียนมีอายุประมาณ 2 เดือน ตัวเต็มวัยจะวางไข่บนผล ทุเรียนใกล้ ๆ ขั้ว เป็นฟองเดี่ยว ๆ ต่อมา หนอนจะไชเข้าไปภายในและกัดกินเมล็ด โดยไม่ทำลาย เนื้อทุเรียนเลย เมล็ดที่ถูกทำลายส่วนใหญ่จะอยู่ ในระยะที่เมล็ดในแข็งแล้ว โดยหนอนจะใช้เวลา เจริญเติบโต อยู่ภายใน เมล็ดประมาณ 30 วัน
วิธีการควบคุมแบบผสมผสาน
- ใช้กับดักแสงไฟ เพื่อล่อดักทำลายผีเสื้อ ซึ่งจะทำให้ลด ปริมาณการระบาดลงได้ และผลจากการติดตั้งกับดักแสงไฟจะทำให้ ทราบว่า เริ่มมีผีเสื้อในช่วงไหน เพื่อจะทำให้ฉีดพ่นสารฆ่าแมลงได้ถูก ช่วงเวลา
- ใช้สารเคมี เช่น คาร์บาริล เอ็นโดซัลแฟนหรือเมทามิโดฟอส พ่นหลังจากพบผีเสื้อ ในกับดักแสงไฟครั้งแรก
- การขนเมล็ดทุเรียน จากแหล่งที่มีการระบาดของหนอน เจาะเมล็ดเพื่อนำไปเพาะเป็นต้นตอ ในการขยายพันธุ์ ควรมีการแช่ด้วย สารเคมี เช่นคาร์บาริล ก่อนการขนย้ายเพื่อจะช่วยฆ่าหนอน ซึ่งติด มากับเมล็ดได้
- รักษาสวนให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจสวนหลังจากทุเรียน ติดผลแล้ว เมื่อพบผลที่ถูกทำลาย หรือผลร่วงในสวนที่มีการระบาดของ หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ควรเก็บผลร่วงไปเผาทำลายทิ้งทุกวัน เพราะ หลังจากทุเรียนร่วงไม่นาน ถ้ามีหนอนอยู่ภายในหนอนจะเจาะรูออกมา เพื่อเข้าดักแด้ในดิน
หนอนเจาะผล
เป็นหนอนขนาดเล็ก เข้าทำลาย ผลทุเรียนตั้งแต่ผลเล็ก จนกระทั่งผลโต โดยจะวางไข่ภายนอก ผลทุเรียน ในระยะแรกที่หนอนฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะแทะกิน ผิวเปลือกผลทุเรียนก่อนเมื่อโตขึ้นจึงจะเจาะกินเข้าไปภายใน เมื่อผลสุก ภายนอก ผลทุเรียนจะเห็นมูลของหนอนได้อย่างชัดเจน และมีน้ำไหลเยิ้มเมื่อทุเรียนใกล้แก่จัด หนอนจะเข้าทำลายผลที่อยู่ติดกัน
วิธีการควบคุมแบบผสมผสาน
- อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติไว้ควบคุมหนอนเจาะขั้วผลตามธรรมชาติ
- ใช้หลอดแบล็คบลูไลท์ล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย ในกับดักแสงไฟครั้งแรก
- ตัดแต่งผลทุเรียนไม่ให้มีมากหรือติดกันเกินไป หรืออาจใช้ วัสดุ
- หลังตัดแต่งผลครั้งที่ 3 เมื่อตรวจพบผลถูกทำลาย ให้ฉีดพ่น สารเคมีเฉพาะต้น ที่ถูกทำลายชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้
– ไซฮาโลธริน แอล 2.5% อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– คาร์โบซัลแฟน 20%อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– คลอร์ไพริฟอส 40%อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร - ผลทุเรียนที่เน่าและร่วงควรเก็บทำลายโดยเผาไฟหรือฝังเสีย
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: https://www.duriannon.com ,https://ldd.go.th
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ