เมื่อเป็น “โรครากเน่าโคนเน่า” จะดูแลทุเรียนอย่างไรดี?
โรครากเน่าโคนเน่า
ในช่วงที่อากาศแปรปรวน ปริมาณน้ำฝนมากและฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความชื้นในอากาศสูงเกษตรกรหาโอกาสในการจัดการสวนและพ่นสารเคมีไม่ได้ตามกำหนดเวลา ทำให้ “โรครากเน่าโคนเน่า“รุกระบาดสวนทุเรียน ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรสวนทุเรียนต้องใช้วิธีป้องกันกำจัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม ช่วยแก้ปัญหาตรงจุด ลดความเสียหายของผลผลิต หยุดวงจรการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าได้ผลจริง
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ไฟทอปธอร่า (Phytophthora) เป็นเชื้อราที่กำจัดได้ยาก รุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับพืชหลากหลายชนิด โรครากเน่าโคนเน่า สามารถแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวาง และรวดเร็วในช่วงฤดูฝน หรืออาจติดไปกับน้ำที่ใช้ในการรด นอกจากเชื้อราไฟทอปธอร่าแล้ว โรครากเน่าและโคนเน่ายังเกิดจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในการปลูกได้อีกเช่น เมล็ดพันธุ์พืช,ไม่มีการตัดแต่งทรงพุ่ม บริเวณทรงพุ่มมีความชื้นสูง
ลักษณะอาการโดยทั่วไปของ โรครากเน่าโคนเน่า
การเข้าทำลายของโรคเริ่มที่ใบและกิ่งอ่อนมีอาการเน่า ใบอ่อนเหี่ยวเหลืองมีจุดแผลสีน้ำตาลอ่อนฉ่ำน้ำ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำเส้นใบมีสีน้ำตาลดำ กิ่ง ลำต้น และโคนต้นมีจุดฉ่ำน้ำสีน้ำตาล และมีน้ำเยิ้มออกมาในช่วงเช้า เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่า เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล ส่วนที่เน่ามีกลิ่นหื่น แผลเน่าจะลุกลามรวดเร็ว มักพบโรคร่วมกับการเข้าทำลายของมอดเจาะลำต้นทุเรียน และจะระบาดในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน
การควบคุมในเบื้องต้น
หากพบโรครากเน่าโคนเน่าให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ฉีดด้วยสารฟอสโฟนิกแอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งบริเวณตรงข้ามอาการของโรคหรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ทุก 30 วัน จากนั้นพ่นให้ทั่วทรงพุ่มด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืซฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน ใช้สลับกับสารเมทาแลกชิล 25% ดับเบิลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
กรณีโรคเข้าทำลายไม่รุนแรง
ในกรณีที่เกิดโรครากเน่าโคนเน่าไม่รุนแรงมากนักให้ใช้ จุลินทรีย์ปฏิปักษ์แบบใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาฮาร์เซียนัม นำหัวเชื้อมาเพิ่มปริมาณในข้าวสุก จากนั้นหว่านส่วนผสมเชื้อสดให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่ม อัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือบริเวณโคนต้นพืชที่เกิดโรค อัตรา 10-20 กรัมต่อต้น แบบใช้เชื้อแบคที่เรียบาซิลลัส ซับทีลิส ให้ใช้เข็มฉีดยาใส่สารละลายของเชื้อ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 มิลลิลิตร ฉีดเข้าโคนต้นทุเรียน ต้นละ 3 จุด 1 ครั้ง จากนั้นลอกเปลือกต้นทุเรียนบริเวณที่เป็นโรคออกแล้วทาด้วยผงเชื้อ อัตรา 1,000 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยจะต้องผสมสารจับใบ อัตรา 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ราดดินบริเวณโคนต้นด้วยผงเชื้ออัตรา 200 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตรต่อต้น โดยลอกเปลือกและราดดินซ้ำ รวม 4 ครั้ง
กรณีโรคเข้าทำลายรุนแรง
ให้เกษตรกรถากหรือขูตผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก จากนั้นทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิลยูพีอัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 65% ดับเบิลยูพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้งหากพบใบเหลืองทั้งต้นให้ราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิลยูพีอัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล25% ดับเบิลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยร่วมกับการใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสม น้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นถ้าพบกิ่งแห้งที่มีรอยเจาะทำลายของมอด ให้ตัดไปเผาไฟทิ้ง สำหรับส่วนที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้ ให้พ่นบนกิ่งใหญ่หรือลำต้นที่มีรูมอดเจาะด้วยสารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ20 ลิตร ส่วนต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตาย ให้ขุดออก แล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลง จากนั้นใส่ปูนขาวและตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วปลูกใหม่ทดแทน
ขอบคุณ www.kasetkaoklai.com, www.kasetnew.com และกรมวิชาการเกษตร
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ