เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อรามหัศจรรย์ป้องกันและควบคุมโรคพืช
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด ลักษณะของเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนที่จะขยายพันธุ์ต่อที่ เรียกว่า “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เชื้อราไตรโคเดอร์มามีคุณสมบัติช่วยในการควบคุมการทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและทำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคทั้งเชื้อราและแบคทีเรียที่สำคัญกว่านั้นคือช่วยให้เกษตรกรประหยัด และมีความปลอดภัยในชีวิตสูง
ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- ลดปริมาณของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช โดยเข้าไปขัดขวางหรือท าลายเชื้อที่เป็นสาเหตุโรคพืช เช่น โรครากเน่า โคนเน่า อาการใบด่าง โรคแคงเกอร์
- เพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช โดยเพิ่มการสร้างดอก เพิ่มขนาด ความสูง น้ำหนัก ทำให้พืชเจริญเติบโตดี และยังช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้นเมื่อคลุกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ต้นกล้าแข็งแรง
- กระตุ้นให้เกิดความต้านทานโรค พืชมีระบบรากดี แข็งแรง จึงทำให้ต้านทานโรคได้ดี
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับแร่ธาตุอาหารของพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะช่วยละลายธาตุอาหาร เช่น แมงกานีสออกไซด์ สังกะสี ฟอสเฟต ทำให้พืชสามารถดูดไปใช้ได้ง่ายขึ้น
กลไกการทำงานของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถสร้างสปอร์หรือเส้นใยได้จำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถแข่งขันกับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้
- การเป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช โดยเข้าไปเบียดเบียน แล้วแทงส่วนของเส้นใยเข้าสู่ภายในเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืช
- การทำลายโดยตรง ด้วยการกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร ดังนั้นเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถสร้างสารปฏิชีวนะ เช่น น้ำย่อย หรือเอนไซม์ เพื่อหยุดยั้งหรือไปทำลายเส้นใยของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืชได้
- สร้างสารปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายต่อเชื้อโรคพืชชนิดอื่น โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถชักนำให้พืชผลิตสาร เช่น เอนไซม์หรือโปรตีน ที่ช่วยให้พืชเกิดความต้านทานโรคได้
การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา
- หุงข้าวให้สุก จากนั้นตักข้าวใส่ถุงพลาสติกใส ถุงละ 150 กรัม หรือประมาณ 2 ทัพพี
- นำหัวเชื้อไตรโคเตอร์มาชนิดผงแห้ง (หาซื้อได้ในร้านขายผลิตภัณฑ์เกษตร) ใส่ลงไปในปริมาณเล็กน้อยแล้วคลุกให้ทั่วกับข้าวในถุง
- รัดปากถุงด้วยยางรัด ให้มีพื้นที่ภายในถุงมากที่สุด จากนั้นใช้เข็มเจาะรูประมาณ 15 รู บริเวณปากถุงที่รัดยางไว้บริเวณเพื่อระบายอากาศ
- นำไปเก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวกประมาณ 3-7 วัน สังเกตดูจะเห็นเชื้อเดินเต็มถุง ซึ่งจะเป็นสีเขียว เราก็จะได้เชื้อราไตรโคเดอร์มาไว้ใช้
ข้อควรระวังในการผลิต
- ควรหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติเท่านั้น เพราะการใช้หม้อหุงข้าวชนิดที่ใช้แก๊ซ อาจทำให้ข้าวไหม้ หรือการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำมักได้ข้าวที่แฉะเกินไป ข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจะมีลักษณะเป็นไตขาวอยู่บ้าง จัดเป็นลักษณะที่ดี
- ต้องตักข้าวที่หุงแล้วใส่ถุงพลาสติก ขณะที่ข้าวกำลังร้อน เพื่อให้ความร้อนในถุงข้าวทำลายจุลินทรีย์จากอากาศที่อาจปนเปื้อนอยู่ในถุงข้าว
- การใช้เข็มแทงรอบบริเวณปากถุงที่รัดยางไว้ควรแทงไม่น้อยกว่า 15 จุด / ถุง เพราะถ้าอากาศไม่สามารถ ระบายถ่ายเทได้ดี เชื้อจะเจริญไม่ทั่วทั้งถุง
- อย่าลืมขยำข้าวเมื่อบ่มเชื้อครบ 2 วัน ( หลังใส่เชื้อ ) และกดข้าวให้แผ่แบนราบมากที่สุดอีกครั้งหลังขยำข้าวแล้ว ดึงถุงให้โป่งขึ้นเพื่อมีอากาศในถุงห้ามวางถุงทับซ้อนกัน
- ป้องกันอย่าให้ มด แมลง หรือสัตว์มากัดแทะถุงข้าว
- ถ้าพบเชื้อสีชมพู สีส้ม สีเหลือง หรือสีดำ ในถุงใด ให้นำถุงเชื้อดังกล่าวไปทิ้งขยะ หรือทิ้งใส่หลุมชนิดฝังกลบโดยไม่ต้องเปิดปากถุง
วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
- นำไปฉีดพ่น โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 150 กรัม ละลายน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากัน จากนั้นกรองเอากากออก แล้วนำน้ำไปฉีดพ่น เช่น ฉีดในถาดเพาะกล้าหลังจากหยอดเมล็ดแล้ว หรือฉีดระหว่างที่ต้นกล้ากำลังเจริญเติบโต
- นำไปแช่เมล็ดข้าวก่อนหว่าน โดยนำเชื้อราไตรโคเดอร์มา ผสมลงไปในน้ำที่แช่เมล็ดข้าว นาน 1 คืน แล้วจึงนำไปหว่าน จะช่วยให้ข้าวงอกดี
- นำไปคลุกผสมกับวัสดุปลูก นำเชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 ส่วน ผสมกับวัสดุปลูก 4 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนนำไปปลูกพืช
ที่มา : สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ริมถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช นวนคร จังหวัดปทุมธานี 12120 www. wisdomking.or.th โทร: 0-2529-2212 or 0-2529-2213, อาจารย์ปรีชา บุญท้วม บรรยายในงานมหกรรม “ศาสตร์พระราชา ศรัทธาแห่งเกษตรกรรม”
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ