บทความเกษตร/เทคโนโลยี » ปลูกบัวหิมะ พืชมหัศจรรย์ วิธีการปลูกและดูแล

ปลูกบัวหิมะ พืชมหัศจรรย์ วิธีการปลูกและดูแล

3 ธันวาคม 2021
11551   0

ปลูกบัวหิมะ พืชมหัศจรรย์ วิธีการปลูกและดูแล

ปลูกบัวหิมะ

ปลูกบัวหิมะ (Smallanthus sonchifolius )





บัวหิมะ หรือ ผลบัวหิมะ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Smallanthus sonchifolius   ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Yacon หรือภาษาจีน เรียกว่า เสวี่ยเหลียนกว่อ   เป็นพืชใต้ดิน มีต้นกำเนิดใน ประเทศแถบอเมริกาใต้   อยู่ในวงศ์เดียวกับดอกทานตะวัน มีลักษณะต้นคล้ายกับมันเทศ  ความสูงของต้น 2-3 เมตร ลักษณะดอกคล้ายกับดอกเดซี่  มีกลีบดอกเล็ก ๆ สีเหลืองประมาณ 14-15 กลีบ   ในแต่ละต้นเมื่อโตเต็มที่จะมีดอกประมาณ 4-5 ดอก

บัวหิมะ เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ แต่ถ้าดินสมบูรณ์ก็จะทำให้ ได้ผลผลิตที่ดี

วิธีการตัดแบ่งหน่อบัวหิมะ

ปลูกบัวหิมะ

สำรวจตาของบัวหิมะ และวางแนวตัดเพื่อไม่ให้ตาเสียหาย  โดยตัดบริเวณส่วนที่เป็นรอยเว้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีตาน้อย ทำให้ตัดได้ง่ายขึ้น  โดย 1 หน่อ จะตัดได้กี่ส่วนนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนและความสมบูรณ์ของตาหน่อด้วย

การเตรียมดิน ปลูกบัวหิมะ

วัสดุปลูกที่ดี จะทำให้บัวหิมะเจริญเติบโต และให้ผลผลิตที่ดี มีสูตรผสมดินปลูก  ดังนี้

  • ดินร่วน  1 ส่วน
  • ขุยมะพร้าว  1 ส่วน
  • ปุ๋ยคอก  1 ส่วน
  • แกลบดิบ  1 ส่วน (ใช้แกลบดิบเก่า) นำมาผสมคลุกเคล้ากันให้ทั่ว

วิธีปลูกบัวหิมะง่ายๆ  ดังนี้

  • พรวนดิน และตากดินก่อนปลูก ประมาณ 1 สัปดาห์
  • เพาะหน่อในกระถาง หรือ ปลูกลงแปลง โดยใช้ฟางคลุมหน้าดิน
    "บัวหิมะ" พืชมหัศจรรย์ วิธีการปลูกและดูแล
  • รดน้ำให้ชุ่ม  เช้า-บ่าย
  • กรณีเพาะหน่อในกระถาง เมื่อหน่อเริ่มแตกใบได้ 4-5 ใบ ประมาณ 30-45 วัน จึงย้ายมาปลูกใน กระถางใหญ่  หรือ แปลงที่เตรียมไว้ใช้ฟางคลุมหน้าดิน  สามารถใส่ปุ๋ยคอก เพื่อต้นเจริญเติบโต
  • ปลูก ประมาณ 5 เดือน จะเริ่มให้หัว ลดการใส่ปุ๋ย หรือปุ๋ยคอก
  • ประมาณ เดือนที่  7-8 เริ่มเก็บหัวได้ (สังเกตุจากดอกที่เหี่ยว)

การดูแลรักษาโรคและแมลง

บัวหิมะ เป็นพืชที่มีโรคแมลงน้อย  หรือไม่มีเลย  หากมีหนอนหรือแมลงเข้ามาทำลายดอกหรือใบ สามารถใช้สารสกัด สะเดา เพื่อกำจัดได้ และให้ตากดินก่อนจะทำการปลูกบัวหิมะ เพื่อป้องกันแมลงในดิน  หากพบมีแมลงในดิน แนะนำให้ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรของแมลง

ฤดูปลูกและเก็บเกี่ยวบัวหิมะ

"บัวหิมะ" พืชมหัศจรรย์ วิธีการปลูกและดูแล

บัวหิมะเป็นพืชที่มีน้ำสะสมมาก  หากโดนฝนอาจทำให้หัวเน่าได้   แนะนำให้เก็บหัวในช่วงนอกฤดูฝน  หรือ ปลูกฤดูฝน แล้วเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาว  หรือ ปลูกปลายฝน  เก็บเกี่ยวก่อนเข้าฤดูฝน

ประโยชน์บัวหิมะ




          บัวหิมะเป็นพืชที่มีสรรพคุณเกี่ยวกับสุขภาพมากมาย เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหาร โดยประโยชน์ของบัวหิมะมีดังนี้

  • ช่วยในการลดน้ำหนัก

น้ำตาลจากธรรมชาติของบัวหิมะมีส่วนช่วยลดน้ำหนักได้ โดยการศึกษาในปี 2009 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ Clinical Nutrition เผยว่า ผู้หญิงที่รับประทานน้ำเชื่อมบัวหิมะในปริมาณ 0.14-0.29 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ติดต่อกันอย่างน้อย 120 วัน จะทำให้น้ำหนัก ดัชนีมวลกาย และรอบเอวลดลง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าน้ำเชื่อมบัวหิมะจะเข้าไปสร้างความรู้สึกอิ่มให้กับร่างกาย ช่วยให้ความอยากอาหารลดลง

  • ลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

ในบัวหิมะมีน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Fructooligosaccharide) มีคุณสมบัติในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี โดยการศึกษาในปี 2011 ซึ่งตีพิมพ์ใน Chemico-Biological Interactions พบว่า หนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อได้อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของบัวหิมะติดต่อกันทุกวัน ระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี มีอัตราลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีการศึกษากับมนุษย์อันแสดงให้เห็นว่า การรับประทานบัวหิมะเป็นประจำจะช่วยลดไขมันทั้งสองชนิดได้เช่นกัน และเมื่อระดับไขมันทั้งสองชนิดนี้ลดลง ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดก็จะลดลงตามไปด้วย

  • ลดระดับน้ำตาลในเลือด

แม้ว่าบัวหิมะจะมีรสชาติหวาน แต่รสชาติหวานนี้ก็มาจากอินูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติ โดยมีการศึกษาพบว่า อินูลินเป็นสารที่ส่งผลดีต่อการทำงานของอินซูลินในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การรับประทานบัวหิมะเป็นประจำจะสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อีกทั้งระดับความหวานของบัวหิมะยังน้อยกว่าระดับความหวานของน้ำตาลกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าบัวหิมะเป็นอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกลัวเรื่องระดับน้ำตาล

  • ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและความดันโลหิต

บัวหิมะเป็นพืชที่ขึ้นชื่อว่าดีกับสุขภาพหัวใจ เพราะในบัวหิมะมีระดับโพแทสเซียมสูง โดยโพแทสเซียมมีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือด ช่วยผ่อนคลายระบบหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น ลดความดันโลหิต และทำให้ความเสี่ยงโรคหัวใจลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจของผู้ป่วยได้อีกต่างหาก อีกทั้งโพแทสเซียมในบัวหิมะยังช่วยควบคุมสมดุลของเหลวในเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายร่วมกับโซเดียม แต่ทั้งนี้ก็ควรบริโภคอาหารที่มีโซเดียมอย่างพอเหมาะด้วย

  • ต้านมะเร็ง

การศึกษาในปี 2011 ในวารสารทางวิชาการ Fitoterapia พบว่า บัวหิมะมีสรรพคุณช่วยยับยั้งการเจริญเติบโต ยับยั้งการแพร่กระจาย และการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งได้ ทำให้ความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งของเลือดทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ โรคมะเร็งไขกระดูก โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลดลง อีกทั้งในบัวหิมะยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้ถูกอนุมูลอิสระทำลายจนเกิดการอักเสบต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้

  • ป้องกันภาวะไขมันพอกตับ

นอกจากจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายแล้ว จากการศึกษาในปี 2008 ยังพบว่า การรับประทานบัวหิมะควบคู่กับสารไซลิมาริน (Silymarin) จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่มีการเผาผลาญของร่างกายผิดปกติจนทำให้อ้วนลงพุงได้อีกด้วย โดยในการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เมื่ออาสาสมัครรับประทานบัวหิมะวันละ 2.4 กรัม และสารไซลิมาริน (Silymarin) วันละ 0.8 กรัม ติดต่อกัน 90 วัน ระดับของคอเลสเตอรอลลดลง และปริมาณไขมันสะสมในตับก็ลดลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับลดลง

  • สร้างเสริมระบบขับถ่าย ลดอาการท้องผูก

โพรไบโอติกส์ในบัวหิมะเป็นแบคทีเรียชนิดที่ดีต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ทำให้อาการท้องผูก ท้องอืด และปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายต่าง ๆ ที่่อาจนำมาสู่การเกิดเนื้องอกในกระเพาะอาหารหรือโรคมะเร็งลำไส้ลดลงได้ ขณะที่ไฟเบอร์ในบัวหิมะก็ยังช่วยสร้างเสริมระบบขับถ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย ได้ประโยชน์หลายต่อแบบนี้ต้องหามาลองกันแล้วล่ะ

ลิ้มชิมรสได้นะคะ แต่ก็มีข้อควรระวังเพราะเจ้าพืชชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ ดังนั้นหากเคยมีประวัติการแพ้พืชกินหัว อย่างเช่น มันฝรั่ง ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อนจะดีกว่า แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะแพ้หรือไม่  ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ขอบคุณข้อมูลจาก : health.kapook.com, en.wikipedia.org, cheewajit.com



บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :