ข้อคิด-ธรรมะ » ปัญญา 3 ประการ ความหมายและแนวทางปฏิบัติ

ปัญญา 3 ประการ ความหมายและแนวทางปฏิบัติ

18 พฤศจิกายน 2021
3560   0

ปัญญา 3 ประการ ความหมาย และ แนวทางปฏิบัติ

ปัญญา 3 ประการ ความหมาย และ แนวทางปฏิบัติ

ปัญญา คือ ความรู้ หรือ ความเข้าใจ ทั้งรู้ในตน รู้ในงาน รู้ในตำรา และรู้ในคน อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน




ปัญญา 3 ประการ

  1. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน
  2. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการคิดวิเคราะห์
  3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากฝึกฝน หรือ ลงมือปฏิบัติ

อรรถาธิบายเพิ่มเติม ปัญญา 3 ประการ

  1.  สุตมยปัญญา
                ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน กล่าวคือ สุตมยปัญญา ถือเป็นการเข้าถึงซึ่งปัญญาในระดับเบื้องต้น ด้วยการศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเองในด้านต่างๆ ทั้งการอ่านตำราด้วยตนเอง และการสดับรับฟังจากคณาจารย์ รวมถึงการศึกษาเล่าเรียนจากสื่ออื่นที่เข้าถึงได้
  2. จินตามยปัญญา
               ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการคิดวิเคราะห์ กล่าวคือ จินตามยปัญญา เป็นการได้มาซึ่งปัญญาขั้นกลางโดยใช้พื้นฐานปัญญาที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนในขั้นสุตมยปัญญา คือ การนำองค์ความรู้ที่ได้จากตำราเรียน หรือ จากคณาจารย์ผู้สอนมาคิดวิเคราะห์ หาเหตุ หาผล หาข้อเท็จจริงอันที่จะเป็นไปได้ โดยไร้ซึ่งอคติโน้มเอียงในตำรา และผู้สอน โดยให้ยึดหลักธรรมที่เรียกว่า กาลามสูตร 10 ประการ           กาลามสูตร 10 ประการ คือ พึงอย่าเพราะฟังตามกันมา อย่าเชื่อเพราะถือปฏิบัติสืบๆกันมา อย่าเชื่อเพราะการเล่าลือ อย่าเชื่อเพราะอ่านในตำรา อย่าเชื่อเพราะเพราะคิดด้วยตนเอง อย่าเชื่อเพราะการคาดเดา อย่าเชื่อเพราะมีเหตุผลประกอบ อย่าเชื่อเพราะมีทฤษฎีที่คนอื่นกล่าวไว้ อย่าเชื่อเพราะรูปลักษณ์ อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครูเรา หรือใช้หลักธรรมอื่นที่เป็นพื้นฐานสำคัญของปัญญา คือ โยนิโสมนัสสิการ เมื่อคิดวิเคราะห์ตามประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่เราสนใจในมูลเหตุต่างๆด้วยการใช้หลักกาลามสูตร 10 ประการ และโยนิโสมนัสสิการ ย่อมจะเกิดปัญญารู้แจ้งหรือได้ข้อเท็จจริงในสิ่งนั้น ว่าเป็นจริงหรือเป็นเท็จประการใด



  3. ภาวนามยปัญญา
            ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากฝึกฝน หรือ ลงมือปฏิบัติ กล่าวคือ หมายถึง จินตามยปัญญา เป็นการได้มาซึ่งปัญญาระดับสุดท้าย โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน และคิดวิเคราะห์จนได้ข้อเท็จจริงในสิ่งนั้น แล้วนำแนวทางเหล่านั้นมาใช้ในการปฏิบัติจริง ทั้งในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ และการปฏิบัติธรรมของภิกษุ

วรรณกรรมของสุนทรภู่ในเพลงยาวถวายโอวาทที่แต่งขึ้นเพื่อถวายแด่เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ประกอบด้วยเนื้อหาที่มุ่งเน้นปัญญา โดยปัญญาเปรียบเสมือนอาวุธประเภทหนึ่ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันตน หรือ ต่อสู้กับศัตรูหมู่มาร สอดคล้องกับหลักธรรมที่ใช้เป็นอาวุธได้ที่เรียกว่า อาวุธทางธรรม 3 ประการ คือ สุตาวุธ, ปวิเวกาวุธ และปัญญาวุธ

สรุปลักษณะปัญญาทั้ง 3 ประการ
ปัญญา 3 ประการ ถือเป็นขั้นตอนหรือกระบวนที่ให้ได้มาซึ่งปัญญา หรือ ความรู้อันเป็นจริง มิใช่รู้เท็จ เพราะความเขลา หรือ เชื่อในตำราหรือที่เขาพูด

ปัญญานั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิต เพราะปัญญาถือเป็นอาวุธประเภทหนึ่งที่มีทั้งคุณ และโทษ หากผู้มีปัญญาที่ไม่แท้จริง คือ มีปัญญาด้วยความหลงผิด เชื่อผิด ย่อมที่จะเป็นอาวุธทำร้ายผู้ใช้ปัญญานั้นได้เช่นกัน แต่หากเป็นผู้มีปัญญาที่รู้แจ้งด้วยตน มิใช่เพียงเพราะความรู้ในตำรา หรือ เพราะเขาพูดมา ย่อมที่จะก่อประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้ ทั้งในปัจจุบัน และภายภาคหน้า


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ