สาระน่ารู้ » มารู้จัก ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ) ของชาวอีสาน

มารู้จัก ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ) ของชาวอีสาน

11 พฤศจิกายน 2021
3516   0

มารู้จัก ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ)  ของชาวอีสาน

ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ)

ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ) 





บุญข้าวสาก เป็นประเพณีการทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประจำทุกปีของประเพณีสิบสองเดือน หรือ “ฮิตสิบสอง” (ฮีต มาจากคำว่า จารีต ฮีตสิบสอง คือ จารีตประเพณีสิบสองเดือน) ของชาวอีสาน 

ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ)

ตามตำนานของคนอีสานเล่าถึงมูลเหตูที่มีการทำบุญข้าวสาก มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า

        มีบุตรชายกฎุมพี (คนมั่งมี) ผู้หนึ่ง เมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้วแม่ได้หาหญิงผู้มีอายุ และ ตระกูลเสมอกันมาเป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันหลายปีไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงอื่นมาให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉา จึงคิดฆ่าทั้งลูกและ เมียน้อยเสีย   

        ฝ่ายเมียน้อยเมื่อก่อนจะตายก็คิดอาฆาตเมียหลวงไว้ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นแมว อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นไก่ แมวจึงกินไก่และไข่ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นเสือ อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นกวาง เสือจึงกินกวางและลูก ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคนอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นยักษิณี    พอฝ่ายคนแต่งงานคลอดลูก นางยักษิณีจองเวร ได้ตามไปกินลูกถึงสองครั้งต่อมามีครรภ์ที่สาม นางได้หนีไปอยู่กับพ่อแม่ของตนพร้อมกับสามี

       เมื่อคลอดลูกเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงพร้อมด้วยสามีและลูกกลับบ้าน พอดีนางยักษิณีมาพบเข้า นางยักษิณีจึงไล่นาง สามีและลูก นางจึงพาลูกหนีพร้อมกับสามีเข้าไปยังเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพอดีพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่   นางและสามีจึงนำลูกน้อยไปถวายขอชีวิตไว้ นางยักษ์จะตามเข้าไปในเชตวันมหาวิหารไม่ได้ เพราะถูกเทวดากางกั้นไว้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษ์เข้ามาฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พยาบาทจองเวรกัน แล้วจึงโปรดให้นางยักษ์ไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา

     นางยักษ์ตนนี้มีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดีปีไหนฝนจะตกดีปีไหนฝนจะตกไม่ดี    จะแจ้งให้ชาวเมืองได้ทราบ ชาวเมืองให้ความนับถือมาก   จึงได้นำอาหารไปส่งนางยักษ์อย่างบริบูรณ์สม่ำเสมอ    นางยักษ์จึงได้นำเอาอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัต    แด่พระภิกษุสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ

      ชาวอิสาน    จึงถือเอาการถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุ และวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า ” ตาแฮก “

ขั้นตอนประเพณี “บุญข้าวสาก”

เนื่องจากเมื่อจัดทำข้าวปลาอาหาร และเครื่องไทยทานต่าง ๆ อุทิศให้ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จะทำสากหรือสลาก มีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใด โดยบอกชื่อผู้ที่จะ มารับส่วนกุศลด้วย




ก่อนถึงกำหนดวันทำบุญข้าวสาก คือ วันขึ้น 13 – 14 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้าน จะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ มีทั้งข้าว เนื้อ ปลา ข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และอาหารคาวหวานอื่น ตลอดจนผลไม้ต่าง ๆ ไว้สำหรับทำบุญ

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ตอนเช้า ชาวบ้าน จะพากันนำอาหารคาวหวานต่าง ๆ ไปทำบุญตักบาตร ที่วัด โดยพร้อมเพรียงกัน และถวายทานอุทิศส่วนกุศล ให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว

ตอนสาย ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ เป็นข้าวสาก ไปวัดอีกครั้งหนึ่ง เอาอาหารต่าง ๆ จัดเป็น สำหรับหรือชุดสำหรับถวายทาน หรือถวายเป็นสลากภัต โดยจัดใส่ภาชนะต่างๆ  แต่ละบ้านจะจัดทำสักกี่ชุดก็ได้ตามศรัทธา ก่อนที่จะถวาย ข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร จะกล่าวคำถวายข้าวสาก หรือสลากภัตพร้อมกัน

ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ)

ภายหลังจากการถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร และนำอาหารไปวางไว้ตามบริเวณวัดเสร็จแล้ว ก็มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสาก และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ไปให้เปรตและญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่มีนา จะนำข้าวสากไปเลี้ยง “ตาแฮก” ที่นาของตน เพื่อให้ตาแฮกรักษานาและให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก




แหล่งข้อมูล | ความเป็นมาของ ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ), สวจ.มหาสารคาม, tessabankanluang.go.th, ihome108.com


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ