บทความเกษตร/เทคโนโลยี » การเลี้ยงปลาบู่ (Marbled Sleepy Goby) จัดการง่ายราคาดี!!

การเลี้ยงปลาบู่ (Marbled Sleepy Goby) จัดการง่ายราคาดี!!

18 กุมภาพันธ์ 2021
8014   0

การเลี้ยงปลาบู่ (Marbled Sleepy Goby) จัดการง่ายราคาดี!!

การเลี้ยงปลาบู่ (Marbled Sleepy Goby) จัดการง่ายราคาดี!!

          การเลี้ยงปลาบู่ (Marbled Sleepy Goby) จัดการง่ายราคาดี  ปลาบู่ หรือบู่ทราย,บู่จา,บู่ทอง,บู่เอื้อย,บู่สิงโต  มีชื่อสามัญว่า Sand Goby, Marbled Sleepy Goby  ปลาบู่ เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ  สามารถทำรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท ได้แก่  ฮ่องกง,สิงคโปร์,มาเลเซีย  ฯลฯ

         ซึ่งในอดีตการเลี้ยงปลาบู่ทรายนิยมเลี้ยงกันมากในกระชังแถบลุ่มน้ำและลำน้ำสาขาบริเวณภาคกลาง  ตั้งแต่จังหวัด นครสวรรค์  อุทัยธานี  เรื่อยมาจนถึงจังหวัดปทุมธานี   โดยมีปลาบู่ทรายขณะนี้มี  3  ประการ คือ

  1. พันธุ์ปลาที่นับวันจะหายาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
  2. ผู้เลี้ยงยังขาดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเพาะเลี้ยง
  3. สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยงปลา

รูปแบบการเลี้ยงปลาบู่
การเลี้ยงปลาบู่

1. การเลี้ยงในบ่อดิน
ส่วนใหญ่จะเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น เช่น เลี้ยงรวมกับปลานิล
เพื่อไว้ควบคุมจำนวนประชากรของลูกปลานิลไม่ให้หนาแน่นเกินไปเช่นเดียวกับปลาช่อน นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงร่วม กับปลาชนิดอื่นใต้เล้าไก่ หรือเล้าสุกร โดยอัตราส่วนการปล่อยปลาบู่ต่ำซึ่งขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงจะหาซื้อพันธุ์ได้ จำนวนมากน้อยเท่าใด เมื่อเลี้ยงปลามีน้ำหนัก 400-500 กรัมขึ้นไป จึงจับจำหน่ายแล้วหาพันธุ์ปลา มาปล่อยชดเชย อาหารที่ให้เป็นพวกปลาเป็ดบดปั้นเป็นก้อนๆใส่ลงในเรือแจวให้อาหารเป็นจุดๆรอบบ่อ จุดที่ ให้อาหารมีกระบะไม้ปักอยู่เหนือก้นบ่อเล็กน้อย ในช่วงตอนเย็นปริมาณอาหารที่ให้ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์  ของน้ำหนักปลา ใช้เวลาเลี้ยง 8-12 เดือนจึงจับจำหน่าย น้ำหนักปลาที่นิยมรับซื้อตั้งแต่ 400-800 กรัม  ไม่เกิน 1 กิโลกรัม

2. การเลี้ยงในกระชัง
ปลาบู่เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในกระชัง เนื่องจากสามารถเลี้ยง
ได้หนาแน่นในที่แคบได้ และเป็นปลากินเนื้อจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารธรรมชาติมากนัก ถึงแม้ว่าปลาบู่ มีนิสัยชอบอยู่นิ่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ชอบที่ที่มีน้ำไหลผ่านโดยเฉพาะน้ำที่มีความขุ่นยิ่งดีเพราะปลาบู่ตกใจง่าย เมื่อเลี้ยงในน้ำใสโดยสถานที่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาบู่ในกระชัง คือ
       –  คุณสมบัติของน้ำดีและมีปริมาณเพียงพอตลอดปี
       –  ใกล้แหล่งน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์ปลา และอาหารปลาสามารถหาได้ง่ายและราคาถูก
       –  การคมนาคมสะดวกต่อการลำเลียงพันธุ์ปลาและอาหารปลา
       –  ไม่อยู่ใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีสำหรับการเกษตรมากฅ เพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำ
      –  น้ำมีความขุ่นพอสมควรเพราะปลาบู่ชอบที่มืด ช่วยให้ปลากินอาหารได้ดีและไม่ตกใจง่าย
      –  ความลึกของน้ำไม่ควรต่ำกว่า 2 เมตร
      –  มีกระแสน้ำที่ไหลแรงพอสมควร
      –  ปลอดภัยจากการถูกลักขโมย
      –  ปราศจากศัตรูและภัยธรรมชาติ
      –  ไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำและไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

การเพาะเลี้ยงปลาบู่
การเพาะเลี้ยงปลาบู่

   เดิมการเลี้ยงปลาบู่ใช้วิธีช้อนลูกปลาตามรากหญ้า รากพันธุ์ไม้น้ำในลำคลองหนองบึง  ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ทำให้ลูกปลาในธรรมชาติมีปริมาณลดลง แต่เนื่องจากความต้องการปลาบู่เพื่อการบริโภคและการส่งออกมีจำนวนสูงยิ่ง ๆ ขึ้น จึงทำให้มีการขยายตัวด้านการเลี้ยงปลาบู่ ซึ่งกรมประมงได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี 2 วิธี คือ

         1. วิธีการฉีดฮอร์โมน

         2. วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ

      สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดปทุมธานี   ได้พัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาบู่เป็นเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ  โดยเน้นการเพาะพันธุ์วิธีเลียนแบบธรรมชาติซึ่งให้จำนวนรังไขได้มากกว่าวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม  และสามารถอนุบาลลูกปลาบู่โดยการใช้อาหารธรรมชาติมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งมีวิธีดำเนินการ ดังนี้

             1. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์  ที่ดีมีผลทำให้อัตราการฟักและอัตรารอดตายสูงและได้ลูกปลาที่แข็งแรง พ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ที่ดีควรมีลักษณะ

                  1.1 ควรเป็นปลาวัยเจริญพันธุ์  เพราะไข่ที่ได้มีอัตราฟักและอัตรารอดตายสูง

                  1.2 พ่อแม่พันธุ์ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วง  300 – 500  กรัม  แต่ไม่ควรเกิน 1 กิโลกรัม และไม่ควรเป็นปลาที่อ้วนหรือผอมเกินไป

                  1.3 เมื่อจับพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาจากที่กักขังใหม่ ๆ  ควรรีบคัดปลาที่มีสีนวลดูปราดเปรียว  และควรเป็นปลาที่ปรับสีสู่สภาพเดิมได้เร็วเมื่อหายตกใจ  ไม่ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีเหลืองซีดผิดปกติ

                  1.4 เมื่อลูบตามตัวปลาจากหัวไปหางแล้วรู้สึกตัวปลาลื่นแสดงว่าเป็นปลาที่มีสุขภาพดี

                  1.5 บริเวณนัยต์ตาไม่ขาวขุ่น

                  1.6 ไม่ใช่ปลาที่จับได้  โดยการใช้ไฟฟ้าช็อตเพราะเมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งแล้ว ปลาจะตายมากหรือตายหมดทั้งกระชัง

                  1.7 ไม่มีพยาธิภายนอกหรือเชื้อราเกาะตามลำตัว ถ้ามีปริมาณไม่มากควรกำจัด รักษา และป้องกันก่อนนำไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์

                  1.8 บริเวณครีบอก  ครีบหู  ครีบหาง  และครีบท้องไม่ควรมีบาดแผลฉีกลึกถึงโคนครีบ

                  1.9 ตามลำตัวไม่ควรมีบาดแผลถึงแม้จะเป็นบาดแผลเล็ก ๆ ก็ตามเพราะทำให้ติดเชื้อโรคและลุกลามถึงตายในที่สุด ถ้าจำเป็นควรรักษาให้หายก่อนนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์

                 2. การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์  การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ  ขนาดบ่อเพาะพันธุ์ไม่ควรใหญ่หรือเล็กจนเกินไปเพื่อสะดวกต่อการดูแล และจัดการกับพ่อแม่พันธุ์  สำหรับบ่อขนาด  800  ตารางเมตร  ปล่อยพ่อแม่พันธุ์  150  คู่  ให้ผลผลิตดีที่สุดลูกปลาวัยอ่อนเป็นศัตรูโดยตรงต่อไข่ปลาบู่  เนื่องจากลูกปลาเหล่านี้เข้ามากินไข่ปลาบู่ได้ถึงแม้ว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่คอยเฝ้ารังไข่อยู่ก็ตาม  อีกทั้งยังเป็นศัตรูทางอ้อม  คือ  ไปแย่งอาหารปลาบู่อีกด้วย สำหรับระดับน้ำในบ่อควรให้อยู่ช่วง  1.00 – 1.10  เมตร  แล้วทิ้งไว้  2 – 3วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติขึ้นในบ่อและควรทำการวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำก่อนปล่อยปลาเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำนั้นมีความเหมาะสมแล้วจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์   

                3. การเพาะพันธุ์ปลาบู่  การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี  2  วิธี  คือ  การฉีดฮอร์โมนและการเลียนแบบธรรมชาติ  สำหรับวิธีหลังสามารถผลิตพันธุ์ปลาบู่ได้จำนวนมากและได้อัตราการรอดตายสูง

                3.1 วิธีการฉีดฮอร์โมน  การเพาะพันธุ์ปลาบู่เริ่มครั้งแรกในปี  พ.ศ. 2515 โดยนำปลาบู่เพศผู้ที่มีน้ำหนัก  168 และ  170 กรัม  เพศเมีย  196  กรัม  และ202 กรัม มาทำการฉีดฮอร์โมนเพียงครั้งเดียวด้วยต่อมใต้สมองของปลาในขนาด 1,500  กรัม ร่วมกับคลอลิโอนิค  โกนาโดโทรปิน  (Chorionic Gonadotropin, C.G.0) จำนวน  250  หน่วยมาตรฐาน  (International  Unit,  I.U.)  ฉีดเข้าตัวปลาโดยเฉลี่ยตัวละ  62.5  หน่วยมาตรฐาน  หลังจากฉีดฮอร์โมนแล้วนำพ่อแม่พันธุ์ไปปล่อยลงในบ่อซีเมนต์ขนาด  2 x 3 ตารางเมตร  น้ำลึก  75  เซนติเมตร  และใช้ทางมะพร้าวเป็นวัสดุให้แม่ปลาบู่วางไข่ ปรากฏว่าแม่ปลาที่มีน้ำหนัก 202 กรัม วางไข่ประมาณ10,000 ฟอง มีอัตราการฟัก  90  เปอร์เซ็นต์

                  3.2 วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ  หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ได้ 3  วันแล้ว  ปักกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด  40 x 60  เซนติเมตรหรือวัสดุอื่นที่ง่ายต่อการโยกย้ายลำเลียง เช่น หลักไม้ ตอไม้  ฯลฯ  เพื่อให้ปลาบู่มาวางไข่ นำแผ่นกระเบื้องเหล่านี้ไปปักไว้เป็นจุด ๆ  รอบบ่อแต่ละจุดปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยมและหันด้านที่ขรุขระไว้ข้างใน โดยปักด้านกว้างในดินก้นบ่อพร้อมทั้งทำเครื่องหมายปักหลักไม้ไว้แสดงบริเวณที่ปักกระเบื้องเพื่อสะดวกในการตรวจสอบและเก็บรังไข่  เมื่อปลาบู่มีความคุ้มเคยกับกระเบื้องแผ่นเรียบแล้ว ในตอนเย็นจนถึงตอนเช้ามืดปลาบู่ส่วนใหญ่เริ่มทำการวางไข่ผสมพันธุ์ที่กระเบื้องแผ่นเรียบ  รังไข่ปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นรูปวงรี  แต่จะมีบางครั้งเป็นรูปวงกลมลักษณะไข่ปลาบู่เป็นรูปหยดน้ำ สีใส ด้านแหลมของไข่มีกาวธรรมชาติติดอยู่ไว้ใช้ในการยึดไข่ให้ติดกับวัสดุ ช่วงเช้าหรือเย็นของทุกวันให้ทำการตรวจสอบแผ่นกระเบื้องและนำกระเบื้องที่มีรังไข่ปลาบู่ติดไปฟัก  การลำเลียงรังไข่ปลาบู่ควรให้แผ่นกระเบื้องที่มีไข่ปลาแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา  ข้อควรระวังในการเก็บรังไข่ขึ้นมาฟัก  คือ  เมื่อพบกระเบื้องที่มีรังไข่ติดอยู่แล้ว  ต้องนำขึ้นไปฟักทันที  เพระถ้านำกลับลงไปปักไว้ที่เดิมพ่อแม่ปลาบู่ที่เฝ้าอยู่ใกล้ๆจะมากินไข่หมดในกรณีกระเบื้องแผ่นเรียบที่ผ่านการใช้งานมานานควรทำความสะอาดโดยแช่แผ่นกระเบื้องในสารเคมีกำจัดเชื้อรา  ได้แก่ มาลาไค้ท์กรีน ชนิดปราศจากธาตุสังกะสี ความเข้มข้น 2.4 พีพีเอ็ม ตลอดคืน    ก่อนนำไปปักเป็นกระโจมในบ่อดิน

                  4. การฟักไข่  การฟักไข่ปลาบู่ทำในตู้กระจกขนาดกว้าง  47  เซนติเมตร  ยาว  77  เซนติเมตร  ลึก  60  เซนติเมตร  โดยใส่น้ำลึก  47 – 50 เซนติเมตร  ก่อนนำรังไข่มาฟักต้องฆ่าเชื้อด้วย  มาลาไค้ท์กรีน  ชนิดปราศจากสังกะสี  ความเข้มข้น  1  พีพีเอ็ม  โดยวิธีจุ่ม การฟักไข่ต้องให้อากาศตลอดเวลา ตู้กระจกขนาดดังกล่าว  1  ตู้ใช้ฟักรังไข่ปลาบู่  4  รัง  เมื่อไข่ฟักเป็นตัวจนหนาแน่นตู้กระจกแล้วก็รวบรวมลูกปลาไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาด  6  ตางรางเมตร เนื่องจากไข่ปลาฟักเป็นตัวไม่พร้อมกัน  จึงจำเป็นต้องคอยย้ายรังไข่ออกไปฟักในตู้กระจกอันเนื่องมาจากของเสียที่ไข่ปลาและลูกปลาขับถ่ายออกมาและการสลายตัวของไข่เสีย  โดยปกติไข่ปลาจะใช้เวลาฟักออกมาเป็นตัวหมดทั้งรังประมาณ  3 – 5  วัน

 

ขั้นตอนการอนุบาลลูกปลาบู่

 การอนุบาลลูกปลาบู่แบ่งตามอายุของลูกปลาเป็น  3  ระยะคือ

      1)  การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก

      2)  การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่

      3)  การอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่หรือในบ่อดิน

 1. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก  การอนุบาลช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญในการเพาะขยายพันธุ์ปลาบู่ การอนุบาลลูกปลาให้ได้อัตราการรอดตายต่ำหรือ สูงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 4  ประการ คือ อัตราการปล่อย การจัดการน้ำในการอนุบาล การให้อากาศ ชนิดอาหารและการให้อาหาร

          1.1 อัตราการปล่อยลูกปลาบู่วัยอ่อน  ควรปล่อยอัตรา  20,000 ตัว ต่อ 6 ตารางเมตร หรือ ปริมาณ 3,300 ตัว/ตารางเมตร

          1.2 การจัดการน้ำในการอนุบาล   การจัดการระบบน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ ลูกปลาบอบช้ำ  ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ลูกปลาบอบช้ำ  ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำโดยกรองผ่านผ้าโอลอนแก้วให้ได้ระดับน้ำเฉลี่ย  20 – 25  เซนติเมตร  จนได้ระดับน้ำเฉลี่ย  40 – 45  เซนติเมตรจึงเริ่มถ่ายน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำทั้งหมดทุกวันจนลูกปลาอายุได้ 1 เดือน การเพิ่มระดับน้ำในระยะแรกควรเปิดน้ำเข้าช้า ๆ  อย่าเปิดน้ำรุนแรงเพราะลูกปลาในช่วงระยะนี้บอบบางมากและเพื่อไม่ให้ของเสียที่อยู่ก้นบ่อฟุ้งกระจายขึ้นเป็นอันตรายต่อลูกปลาวัยอ่อน  ส่วนการถ่ายเทน้ำในบ่อควรถ่ายน้ำออกโดยใช้วิธีกาลักน้ำผ่านกล่องกรองน้ำ  การสร้างกล่องกรองน้ำนี้ควรให้มีขนาดพอเหมาะกับบ่ออนุบาลเพื่อสะดวกในการทำงานและขนย้าย  กล่องกรองน้ำทำด้วยโครงไม้หรือท่อพีวีซีบุด้วยผ้าโอลอนแก้ว การถ่ายน้ำออกควรทำอย่างช้าๆ  เพราะลูกปลาบู่วัยอ่อนสู้แรงน้ำที่ดูดออกทิ้งไม่ได้  ลูกปลาจะไปติดตามแผงผ้ากรองตายได้ในช่วงท้ายของการอนุบาลประมาณ  1 – 2  อาทิตย์  สามารถเปลี่ยนผ้ากรองให้มีขนาดตาใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อยจากเดิม โดยให้มีความสัมพันธ์กับขนาดลูกปลาบู่

            1.3 การให้อากาศ  การให้อากาศในบ่ออนุบาลสำหรับลูกปลาวัยอ่อนในช่วงครึ่งเดือนแรกจำเป็นต้องปล่อยให้อากาศผ่านหัวทรายอย่างช้า ๆ  และค่อย ๆ เพราะลูกปลาระยะนี้ยังไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำที่เคลื่อนตามแรงดันอากาศมาก ๆ  ได้

            1.4 ชนิดอาหารและการให้อาหาร  อาหารที่ใช้ในการอนุบาลลูกปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นอาหารธรรมชาติมีชีวิต  ยกเว้นระยะแรกที่ลูกปลาเพิ่งฟักจะให้อาหารไข่ระยะต่อมาให้โรติเฟอร์และไรแดง

  วิธีการเตรียมอาหารและการให้อาหารมีชีวิต

                    1.4.1  อาหารไข่  ตีไข่แดงและไข่ขาวให้เป็นเนื้อเดียวกัน   และใช้น้ำร้อนเติมลงไปขณะที่ตีไข่ในอัตราส่วนน้ำร้อน  150  ซีซีต่อไข่  1  ฟองนำอาหารไข่ไปกรองด้วยผ้าโอลอนแก้วแล้วกรองด้วยผ้ากรองแพลงก์ตอนขนาดตา  59  ไมครอน อีกครั้งหนึ่ง  นำไปอนุบาลลูกปลาช่วง  3  วันแรกของการอนุบาลในช่วงเช้า  กลางวันและเย็น ปริมาณที่ให้โดยเฉลี่ย 40 ซี.ซี. ต่อบ่อต่อครั้ง

                    1.4.2  โรติเฟอร์น้ำจืด   โรติเฟอร์เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กมีหลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยและน้ำจืด  ส่วนโรติเฟอร์น้ำจืดที่นำมาใช้อนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อน  คือ  Brachinonus  calyciflorus  ในการเพาะโรติเฟอร์นั้นต้องเพาะสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า  คลอเรลล่า  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำเขียว เพื่อให้เป็นอาหารของโรติเฟอร์

                            1. ใส่น้ำเขียวคลอเรลล่า ที่มีความหนาแน่นประมาณ 5 x 10 เซลล์/1 ซี.ซี.ประมาณ  2  ตัน ทิ้งไว้  2 – 3 วัน  ระหว่างนั้นต้องคนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียว เมื่อสีน้ำเข้มขึ้นให้เพิ่มระดับน้ำเป็น  40  เซนติเมตร และใส่ปุ๋ยในปริมาณครึ่งหนึ่งของปุ๋ยที่ใช้ในข้อ 2

                            2. ทิ้งไว้  2 – 3  วัน น้ำจะมีสีเขียวเข้มให้นำโรติเฟอร์ที่กรองจนเข้มข้นประมาณ  20  ลิตร  (ความหนาแน่น  3,621  ตัวต่อซี.ซี.)  มาใส่ในบ่อเพาะน้ำเขียวถ้าเป็นไปได้ควรมีการเพิ่มอากาศลงในบ่อเพาะ

                            3. เมื่อโรติเฟอร์ขยายตัวเต็มที่  น้ำจะเป็นสีชาและมีฟองอากาศลอยตามผิวน้ำมาก  ก็ให้การกรองโรติเฟอร์ไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงลูกปลาบู่วัยอ่อนด้วยผ้าแพลงก์ตอน  59  ไมครอน  หลังจากโรติเฟอร์เหลือจำนวนน้อยในบ่อให้ล้างบ่อและดำเนินการเพาะโรติเฟอร์ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ควรให้โรติเฟอร์น้ำจืดอนุบาลลูกปลาบู่ในตอนเช้า กลางวัน และเย็นมื้อละ  4 – 6  ลิตร/บ่อ/ครั้ง  สำหรับลูกปลาอายุ  2 – 12  วัน หลังจากนั้นค่อย ๆลดปริมาณให้โรติเฟอร์จนลูกปลาอายุได้  30 – 37  วัน

                     1.4.3  ไรแดง  ไรแดงเป็นแพลงก์ตอนสัตว์อีกชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กแต่ขนาดใหญ่กว่าโรติเฟอร์อย่างเห็นได้ชัด  ชอบอยู่รวมกลุ่มมีสีแดง

 2. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่  เมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 1 เดือนก็ทำการย้ายไปอนุบาลต่อในบ่อซีเมนต์ขนาด  50  ตารางเมตร  ที่มีระดับน้ำประมาณ 40 – 50  เซนติเมตรโดยคัดลูกปลาให้มีขนาดใกล้เคียงกัน  แล้วปล่อยลูกปลาในอัตราตารางเมตรละ  100 – 160  ตัว   ในช่วงสัปดาห์แรกให้อาหารธรรมชาติมีชีวิต ได้แก่  ไรแดง  หนอนแดง  ฯลฯ  ประมาณ  10  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา

                    ช่วงสัปดาห์ที่สองเริ่มฝึกให้กินอาหารสมทบที่มีสูตรอาหารประกอบด้วยปลาเป็ด 94  เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด  5  เปอร์เซ็นต์  วิตามินเกลือแร่  1  เปอร์เซ็นต์ การฝึกให้ลูกปลาบู่กินอาหารสมทบ  ควรค่อย ๆ  ลดปริมาณไรแดงและเพิ่มอาหารสมทบสำหรับอาหารสมทบนั้นปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ  โยนให้ลูกปลาบู่รอบบ่อ และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ๆ ละ  5 – 10  เซนติเมตร  การเลี้ยงปลาบู่ในบ่อกลางแจ้งอาจประสบปัญหาสาหร่ายชนิดที่ไม่ต้องการโดยเฉพาะพวกที่เป็นเส้นใยขึ้นทั่วบ่อระหว่างอนุบาลลูกปลาซึ่งยากลำบากต่อการดูแล   ควรใช้น้ำเขียวเติมเป็นระยะ ๆ  ตามความเหมาะสมของคุณภาพน้ำความขุ่นและสีน้ำ อีกทั้งช่วยขยายอาหารธรรมชาติในบ่อ ได้แก่ ไรแดง อีกด้วย

 3. การอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่  หรือในบ่อดิน 

       การอนุบาลลูกปลาบู่ขนาด 2.5  เซนติเมตรขึ้นไปส่วนใหญ่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์และบ่อดินส่วนการเลี้ยงในกระชัง นั้นปรากฏว่าไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ มีอัตรารอดและอัตราการเจริญเติบโตต่ำไม่เหมาะสมที่จะใช้อนุบาลลูกปลาขนาดดังกล่าว สำหรับการอนุบาลลูกปลาขนาดดังกล่าวในบ่อซีเมนต์ลูกปลาจะมี อัตรารอดสูงกว่าบ่อดินและรวบรวมปลาบู่ได้สะดวก  แต่อัตราการเจริญเติบโตช้าโดยปล่อยลูกปลาขนาด  5  เซนติเมตร  จำนวน  3,000  ตัว หรือตารางเมตรละ60  ตัว ให้อาหารปลาประกอบด้วย  ปลาเป็ด  94  เปอร์เซ็นต์  รำละเอียด  5 เปอร์เซ็นต์ วิตามินเกลือแร่  1  เปอร์เซ็นต์  ระยะเวลาเลี้ยง  90  วัน  อัตรารอด ประมาณ  85  เปอร์เซ็นต์  ลูกปลาที่มีน้ำหนักเฉลี่ย  1.46  กรัม  เพิ่มขึ้นเป็น 4.97  กรัม  ความยาวเฉลี่ย  5  เซนติเมตรเพิ่มเป็น  7.55  เซนติเมตร นอกจากนี้ การติดตั้งระบบน้ำหมุนเวียนโดยดึงน้ำจากบ่อพักมาเลี้ยงลูกปลาบู่แล้วปล่อยกลับสู่บ่อดินหมุนเวียนตลอดเวลาก็สามารถทำได้ ส่วนการอนุบาลลูกปลาบู่ในบ่อดินได้อัตรารอดไม่สูงนักและรวบรวมลูกปลา ได้ลำบากแต่มีการเจริญเติบโตเร็ว  จากการทดลองเลี้ยงปลาบู่ในบ่อดินของสถานีเพาะเลี้ยงปลาจังหวัดปทุมธานี  ใช้เวลาเลี้ยง  2  เดือน  โดยใส่ปุ๋ยมูลไก่แห้งเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติ และให้อาหารสมทบ (ปลาเป็ด  94  เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด  5 เปอร์เซ็นต์ วิตามินเกลือแร่  1  เปอร์เซ็นต์)  ในอัตรา  10  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนัก ปลาพบว่า  ได้อัตรารอดเฉลี่ย  44  เปอร์เซ็นต์น้ำหนักลูกปลาเริ่มปล่อย 0.04 – 0.39 กรัม ได้น้ำหนักเฉลี่ย  2.4  กรัม

อาหารและการให้อาหาร  ปลาบู่จัดเป็นปลากินเนื้อ  อาหารที่ดีควรมี

                    โปรตีน 38 – 40  เปอร์เซ็นต์  

                    ไขมัน  5 – 8  เปอร์เซ็นต์ 

                     คาร์โบไฮเดรต  9 – 12  เปอร์เซ็นต์ 

                     วิตามินและแร่ธาตุ  0.5 – 1 เปอร์เซ็นต์ 

อาหารใช้เลี้ยงปลาบู่แบ่งเป็น  2  ชนิด

            อาหารแบบพื้นบ้าน   เป็นอาหารสดได้จากการนำปลาเป็ดจากทะเลหรือปลาน้ำจืดมาสับให้ปลากิน  หรือใช้เครื่องบดอาหารซี่งมีผลดีทำให้กระดูกปลาเป็ดป่นย่อยละเอียดไม่เป็นอันตรายต่อสำไส้ปลาบู่ ประหยัดเวลาและแรงงาน

             อาหารผสมสูตรสำเร็จแบบเปียก  อาหารชนิดนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเตรียมจากวัสดุอาหารแห้งและเปียก สะดวกในการจัดเก็บได้นานในตู้เย็น  เตรียมง่าย และถูกสุขลักษณะทั้งยังสามารถเติมยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ปลาบู่กินอาหารเชื่องช้ากว่าปลาชนิดอื่น  จึงควรปั้นเป็นก้อนใส่ถาดแขวนไว้ในกระชังให้ต่ำกว่าระดับผิวน้ำประมาณ  50  เซนติเมตร  การให้อาหารจะให้อาหารทุก ๆ วัน ละ  3 – 5  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาในกระชังให้  2  วันครั้ง ๆ ละ 8 – 10  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา  การให้อาหารควรสังเกตว่าปลากินอาหารหมดหรือไม่และค่อยปรับเพิ่มหรือลดอาหาร

การจัดการ  การเลี้ยงปลาบู่ในกระชังควรมีการจัดการด้านการทำความสะอาด การดูแลรักษาและการคัดขนาด

                    การทำความสะอาด   ควรใช้แปรงขัดภายในกระชังให้ตะไคร่น้ำตะกอนที่ติดตามตะไคร่น้ำและตัวกระชังออก   รวมทั้งเศษอาหารเพราะเป็นแหล่งหมักหมมและก่อให้เกิดเชื้อโรค  หลังจากปลาบู่เอาด้านข้างตัวไปถูกับด้านข้างกระชังหรือพื้นกระชังอาจทำให้ตัวเป็นแผลและเชื้อโรคตามตะกอนหรือตะไคร่น้ำเข้าตัวปลาทางแผลได้
กรณีที่มีตะกอนดินทับถมในกระชังมาก ควรใช้พลั่วแซะตะกอนออก หรือใช้เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบจุ่มฉีดไล่ตะกอนเกษตรกรบางรายนิยมใช้ด่างทับทิมห่อด้วยผ้าถูตามภายในกระชังเพื่อฆ่าเชื้อ

                   การคัดขนาด  การเลี้ยงปลาบู่ต้องทำการคัดขนาดปลาบ่อย ๆ  ครั้งปกติเดือนละครั้งหรืออย่างน้อย  2  เดือนต่อครั้ง  เนื่องจากปลาบู่เป็นปลากินเนื้อและมีนิสัยก้าวร้าว  ปลาตัวใหญ่จะคอยไล่ไม่ให้ปลาตัวเล็กได้มีโอกาสเข้ามากินอาหารทำให้ปลาตัวเล็กผอมลงพฤติกรรมก้าวร้าวนี้เกิดขึ้นในลูกปลาบู่ตัวเล็กเหมือนกันคือถ้าลูกปลามีขนาดต่างกันมากจะกินกันเองแต่ในปลาบู่ขนาดใหญ่จะมีพฤติกรรมกัดกันเองและไล่กันไปมา  การคัดขนาดปลาบู่ทำให้ปลามีขนาดโตเท่ากันสม่ำเสมอเติบโตเร็วและเพิ่มผลผลิตอีกด้วย

                  การป้องกันโรค  ผู้เลี้ยงควรหมั่นดูแลสุขภาพของปลาบู่อยู่เสมอตรวจดูกระชังภายในให้อยู่ในสภาพดีและควรถือหลักป้องกันไม่ให้เกิดโรคมากกว่าที่ปลอ่ยให้ปลาเป็นแล้วทำการรักษาทีหลัง

อัตราการเจริญเติบโต
อัตราการเจริญเติบโตของปลาบู่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ  อาทิ  อัตราปล่อย  คุณภาพและปริมาณอาหาร  คุณสมบัติน้ำ  ฯลฯจากการเลี้ยงปลาบู่ที่แม่น้ำน่าน จ. นครสวรรค์  พบว่าอัตราปล่อย  ตารางเมตรละ32 ตัว  ใช้เวลา 7 เดือนจะให้ผลผลิตสูงสุด

ผลผลิต   
      ผลผลิตการเลี้ยงปลาบู่ในกระชังไม้ไผ่ขนาด  10  ลูกบาศก์เมตร อัตราการปล่อยปลา  915  ตัว  น้ำหนักเฉลี่ย  224  กรัม  ใช้เวลาเลี้ยง  5.3  เดือนได้น้ำหนักเฉลี่ย 435 กรัม ส่วนกระชังไม้จริงขนาด 15 ลูกบาศก์เมตร อัตราการปล่อยอาหาร  1,500  ตัว  น้ำหนักเฉลี่ย  184  กรัม  ใช้เวลาเลี้ยง  8.5  เดือน ได้น้ำหนักเฉลี่ย  422  กรัม  การเลี้ยงปลาบู่ถ้ามีการเอาใจใส่การเลี้ยงปลา มีประสบการณ์ความชำนาญและสภาพแวดล้อมดี ปลาไม่เป็นโรคก็จะให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูง ขายได้ราคาแพง และมีกำไรสูง

ราคาและผลตอบแทน

                    ราคาพันธุ์ปลาบู่ที่เกษตรกรซื้อมาเลี้ยงในกระชังตั้งแต่ปี  2525 – 2537  ราคากิโลกรัมละ  30 – 160  บาท ส่วนราคาปลาบู่เพื่อบริโภคมีราคาตั้งแต่  200 – 350 บาทต่อกิโลกรัม

การขนส่งลำเลียง

                    การขนส่งลำเลียงเริ่มตั้งแต่การขนส่งลูกพันธุ์ปลาบู่ขนาดเล็ก  1 – 2 นิ้วไปยังผู้เลี้ยง และการลำเลียงปลาบู่ขนาดตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภค วิธีการลำเลียงมี  2  วิธี

                             1. การลำเลียงโดยใช้ถุงพลาสติกอัดออกซิเจน   เหมาะสำหรับใช้ลำเลียงลูกปลาบู่ขนาดเล็ก  1 – 2  นิ้ว  และปลาบู่ขนาด  50 – 250  กรัม  วิธีนี้เป็นการลำเลียงที่เหมาะสมที่สุดไม่ทำปลาบอบช้ำ  ปกติใช้ถุงพลาสติกขนาด  20 x 30 เซนติเมตร ใส่น้ำสูงประมาณ  10 – 15  เซนติเมตร  ถุงปลาแต่ละถุงสามารถบรรจุลูกปลาขนาด  1 – 2  นิ้ว  จำนวน  500 – 700  ตัว  เมื่อใส่พันธุ์ปลาแล้วอัดด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์รัดปากถุง สำหรับพันธุ์ปลาที่จับได้จากธรรมชาติควรบรรจุถุงละ5 – 20  ตัว  แล้วแต่ขนาดพันธุ์ปลา  ปริมาณน้ำในถุงพลาสติกลำเลียงไม่ควรใส่มากนักทำให้มวลน้ำในถุงมีการโยนตัวไปมามากทำให้ปลาถูกกระแทกไปมาบอบช้ำมากขึ้น สำหรับการลำเลียงพันธุ์ปลาจากธรรมชาติไปเลี้ยงในกระชังควรบรรจุถุงพลาสติกอัดออกซิเจนดีกว่าลำเลียงด้วยถาดสังกะสี

                             2. การลำเลียงโดยใช้ถาดสังกะสี  เหมาะสำหรับใช้ลำเลียงปลาบู่ขนาดตลาดไปขายพ่อค้าคนกลางหรือภัตตาคาร  ขนาดถาดลำเลียงมีความกว้าง  45  เซนติเมตรยาว  70  เซนติเมตร  สูง  9  เซนติเมตร  ด้านข้างตามความยาวของถาดมีรูกลมขนาด  1.5 – 2.0  เซนติเมตร  เรียงเป็นแถวเดี่ยว ส่วนด้านกว้างมีหูหิ้วทั้ง  2  ข้างถาดทำด้วยสังกะสีและมีฝาครอบถาด ภายในมีแผ่นสังกะสีกั้นกลาง แบ่งออกเป็น 2 ช่อง

             วิธีการลำเลียง  นำปลาบู่มาวางเรียงกันเป็นแถวเพียงชั้นเดียวจนเต็มถาดแล้วเอาน้ำพรมให้ทั่วและใส่น้ำพอท่วมท้องปลาเล็กน้อยจากนั้นปิดฝา   ถ้าปลามีจำนวนมากก็ลำเลียงถาดขึ้นรถซ้อนเป็นชั้น ๆ  วิธีนี้เหมาะสำหรับขนปลาบู่ขนาดตลาดไปขายเพราะขนได้ครั้งละจำนวนมาก ประกอบกับปลาบู่เป็นปลาที่อดทนมากพอสมควรเมื่อลำเลียงไปถึงปลายทางแล้วถูกนำไปพักในบ่อปูนแสดงไว้ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อหรือใส่ภาชนะอื่น ปลาบู่ก็ยังสามารถมีชีวิตได้นานพอสมควร

แหล่งข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม

  1. กรมประมง
  2. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ www.opsmoac.go.th